CBCT เทคโนโลยี ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพงานทันตกรรม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
24-มี.ค.-2565
โคนบีมคอมพิวเตดโทโมกราฟฟี (Cone Beam Computed Tomography : CBCT) กําลังได้รับความนิยม และเข้ามามีบทบาททางทันตกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะงานทันตกรรมรากฟันเทียมที่ต้องถ่ายภาพรังสีก่อนการรักษา เพื่อประเมินตําแหน่งที่จะใส่รากฟันเทียม และศึกษาโครงสร้างต่างๆ เพื่อให้การวินิจฉัย และการวางแผนการรักษาเป็นไปอย่างแม่นยำ 

การทำงานของ Cone Beam Computed Tomography
เป็นวิธีการถ่ายภาพรังสีนอกปากวิธีหนึ่ง ซึ่งภาพรังสีนี้จะแสดงความสัมพันธ์ของโครงสร้างที่ต้องการศึกษาได้ในทั้ง 3 ระนาบ และสามารถนําไปสร้างเป็นภาพ 3 มิติ ในขณะที่ภาพรังสีโดยทั่วไปไม่สามารถทําได้ ภาพรังสีจากวิธีนี้จึงมีประโยชน์อย่างมากในการวินิจฉัยโรค และวางแผนการรักษาในงาน   ทันตกรรมต่างๆ เช่น งานทันตกรรมรากเทียม ศัลยกรรมช่องปาก การวินิจฉัยโรคข้อต่อขากรรไกร และพยาธิสภาพต่างๆ

ข้อดีของการวินิจฉัยด้วยเครื่อง Cone Beam Computed Tomography

ภาพรังสี Cone Beam Computed Tomography สามารถให้รายละเอียดในของขอบเขต รูปร่าง โครงสร้างภายใน และความสัมพันธ์กับโครงสร้างรอบข้างได้ดีกว่าภาพรังสีเทคนิคอื่นๆ ไม่มีการซ้อนทับกันของโครงสร้างต่างๆ ในทุกระนาบที่ต้องการ รวมถึงการแสดงตําแหน่ง และขอบเขตของพยาธิสภาพต่างๆ ในกระดูกขากรรไกร เช่น ถุงนํ้าเนื้องอก ทั้งชนิดไม่ร้ายแรง และชนิดร้ายแรง เป็นต้น ถึงแม้ว่าภาพรังสีทั่วไปจะสามารถให้ข้อมูลในการวินิจฉัยโรคได้ แต่ภาพรังสีจากเครื่องโคนบีมคอมพิวเตดโทโมกราฟฟี จะได้ภาพโครงสร้างทั้งสามมิติจากการถ่ายภาพรังสีเพียงครั้งเดียว ด้วยปริมาณรังสีที่น้อยมากเมื่อเทียบกับ Medical CT และยังมีซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ช่วยวินิจฉัย และวางแผนการรักษาอีกด้วย
ประโยชน์ของเครื่อง Cone Beam Computed Tomography ในงานทันตกรรม
  • การประเมินคุณภาพ และขนาดของกระดูกในบริเวณที่ต้องการใส่รากเทียม ภาพรังสีที่ได้จะแสดงลักษณะของกระดูก ได้แก่ ปริมาณกระดูกทึบ (Cortical Bone) รูปร่าง ความสูง ความกว้าง และความหนาของกระดูก ซึ่งสามารถวัดขนาดต่างๆ และระยะที่วัดได้จากภาพรังสี มีค่าเท่ากับกระดูกจริง นอกจากนี้ ยังแสดงตําแหน่งของโครงสร้างทางกายวิภาคอื่นๆ ที่อยู่ใกล้กับบริเวณที่จะใส่รากเทียม เช่น โพรงอากาศ ขากรรไกรบน (Maxillary Sinus) เส้นประสาทเพดานปากหลังฟันตัด (Incisive Nerve) ช่องจมูก (Nasal Cavity) เส้นประสาทขากรรไกรล่าง (Mandibular Nerve) และรูเปิดเส้นประสาทข้างขากรรไกรล่าง (Mental Foramen) เป็นต้น
  • การศึกษาความสัมพันธ์ของฟันกรามล่างคุด กับเส้นประสาทขากรรไกรล่าง หากดูจากภาพรังสีรอบปลายราก (Periapical Radiograph) หรือภาพรังสีปริทัศน์จะให้ภาพเพียง 2 มิติและมีการซ้อนทับกันของโครงสร้างในแนวรังสี แต่ภาพรังสีจากโคนบีมคอมพิวเตดโทโมกราฟฟีสามารถแสดงความสัมพันธ์ของรากฟันกับเส้นประสาทขากรรไกรล่างได้ในทุกระนาบ ช่วยให้วางแผนการผ่าตัดได้อย่างรอบคอบ แม่นยำ ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตัดโดนเส้นประสาทฟันใหญ่ขณะผ่าตัด
  • การศึกษาขอบเขตลักษณะ และรูปร่างของพยาธิสภาพต่างๆ ในกระดูกขากรรไกร เช่น การติดเชื้อ (Infection) การอักเสบ (Inflammation) ถุงน้ำ (Cyst) เนื้องอกไม่ร้าย (Benign Tumor) เนื้องอกที่อาจเป็นมะเร็ง (Malignant Tumor) รวมถึงกระดูกหัก (Fracture) ที่เกิดขึ้นในกระดูกขากรรไกรเนื่องจากอุบัติเหตุ การวางแผนผ่าตัดถุงน้ำ ผ่าตัดเนื้องอก หรือผ่าตัดปลายรากฟัน ให้ทำได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ ทันตกรรมและรากเทียมดิจิตอล