ขาโก่ง เท้าปุก เท้าแบน
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
23-มี.ค.-2565
title

ขาโก่ง
      “ขา” ของเด็กเล็กปกติจะไม่ตรงในลักษณะเดียวกับผู้ใหญ่ ยิ่งมองด้วยตาจะคล้ายขาโก่ง ซึ่งเกิดจากการโก่งของกระดูกเข่า มักพบในเด็กวัย 2 ปีแรก

      และอีกสาเหตุคือ กระดูกขาส่วนอื่นไม่ว่าจะเป็นกระดูกเท้า กระดูกหน้าแข้ง หรือกระดูกท่อนขาท่อนใดท่อนหนึ่ง หรือทั้ง 3 ท่อน มีลักษณะบิดเข้าด้านใน เวลานอนเหยียดขาก็จะมีช่องอยู่ตรงกลางระหว่างขา ทำให้มองดูคล้ายโก่ง

ถ้าเด็กขาโก่งตามพัฒนาการของเด็กปกติ มักจะเป็นตั้งแต่เกิดและขาทั้งสองข้างจะโก่งเท่าๆ กัน คือ ถ้าเห็นขาซ้ายโก่งขาขวาก็ต้องโก่ง จากนั้นก็ให้คุณแม่คอยสังเกตต่อไปเรื่อยๆ เมื่อลูกเริ่มโตขาจะดีขึ้นช้าๆ แต่ปัญหา คือ พ่อแม่อยู่กับลูกทุกวันจึงไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนไป แต่ละปีขาเด็กจะมีพัฒนาการดีขึ้น จนกระทั่งอายุ 2 ปี ขาก็จะตรงเหมือนขาผู้ใหญ่ ถ้าหากเด็กขาโก่งเพราะโรคกระดูก ก็มักจะมีสัดส่วนของร่างกายส่วนอื่นผิดปกติด้วย

เท้าแบน
เท้าแบน หรือเรียกอีกอย่าง คือ เท้าแป พบได้มากในเด็กทารกทั่วไป เกิดจากในระหว่างที่ทารกอยู่ในครรภ์ ฝ่าเท้าอาจบิดไปบิดมาจากท่าทางของทารกที่ประคับประคองบีบรัดโดยมดลูก ทำให้ฝ่าเท้าเกออกนอกลำตัว หรือบิดเข้าหาตัวมากเกินไป เมื่อคลอดออกมาลักษณะของเท้าจะกลับคืนสู่ปกติเหมือนเด็กทั่วๆ ไป ภายในช่วง 5 สัปดาห์หลังคลอดก่อนเด็กเดินได้ฝ่าเท้าจะแบนราบไม่มีอุ้งเท้าอย่างที่เห็นในเด็กโต ในช่วงที่เด็กเริ่มหัดเดินจะเห็นว่าขาทั้งสองข้าง และฝ่าเท้าทั้งสองถ่างออกกว้าง น้ำหนักตัวอาจตกลงมาทางด้านในของฝ่าเท้าแบนเมื่อเด็กอายุมากขึ้น เด็กเดินได้เก่งขึ้น การยืน การเดินทำได้ตรงและถนัด และเท้าทั้งสองข้างจะเข้ามาชิดกัน แนวน้ำหนักตัวจะตกลงไปตามแกนของกระดูกขา และลงไปทางด้านนอกของฝ่าเท้า ช่วงนี้จะเห็นว่าเด็กมีการเจริญเติบโตที่เป็นปกติ และเริ่มมีอุ้งเท้าเกิดขึ้น

เท้าแบนนั้นอาจเป็นพันธุกรรม ถ้าอายุเกิน 3 ขวบแล้วฝ่าเท้ายังแบนอยู่ถือว่าเป็นความผิดปกติ และควรรีบไปรักษา อาการที่จะเกิดขึ้น คือ การปวดเมื่อยน่องในตอนเย็น หรือค่ำๆ หรือตอนกลางคืนเด็กอาจลุกขึ้นมาร้องไห้ด้วยอาการปวดน่อง หรือมีอาการกล้ามเนื้อเกร็ง ส่วนใหญ่เด็กที่ฝ่าเท้าแบนไม่ชอบวิ่งเล่นหรือออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างเด็กปกติทั่วไปเพราะจะรู้สึกปวดเมื่อยน่องเร็วกว่าปกติ แม้แต่การเล่นกีฬาบางอย่างก็ไม่สามารถสู้เพื่อนได้ จะเห็นว่าเด็กที่มีฝ่าเท้าแบน มีลักษณะของมืออ่อน เท้าอ่อน

 การแก้ไขเท้าแบน เมื่อเด็กอายุได้ 3 ขวบไปแล้วถ้าเท้ายังแบนมากควรพาไปพบแพทย์ กรณีเด็กอายุ 10 - 15 ปีที่เท้าแบน อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น เอ็นร้อยหวายตึง โรคข้ออักเสบ หรือเกิดจากการติดเชื้อของโรคข้ออักเสบพวกรูมาตอยด์ หรือในบางรายอาจเกิดจากกระดูกผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด คือ กระดูกของเท้าติดกันจะทำให้เท้าแบน


โรคเท้าปุก

โรคเท้าปุก ถือว่าเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ผลดี หากได้รับการรักษาตั้งแต่อายุยังน้อยๆ สามารถดัดเท้าให้เข้ารูปร่างใกล้เคียงปกติได้ตั้งแต่แรกเกิด สาเหตุยังไม่ทราบที่ชัดเจน เท้าปุกมี 2 แบบ คือ

  • แบบที่ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งสามารถแยกย่อยเป็นเท้าที่มีลักษณะแข็ง ไม่สามารถดัดให้กลับมาอยู่ในรูปร่างปกติได้ และแบบเท้าอ่อนสามารถจัดให้เข้ารูปได้
  • เท้าปุกที่เป็นผลจากโรค หรือความผิดปกติบางอย่างที่จะพบในส่วนอื่นของร่างกายร่วมด้วยได้ เช่น โรคเยื่อหุ้มข้อแข็งติด หรือเกิดจากการรัดของเยื่อหุ้มรก หรือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท
การรักษาให้ได้ผลดีต้องทำรักษาตั้งแต่แรกคลอด โดยการดัดเท้าให้กลับคืนสู่รูปร่างปกติ และควบคุมด้วยเฝือกทำการดัดและเปลี่ยนเฝือกทุกๆ 1 - 2 สัปดาห์ จนได้เท้าที่มีรูปร่างดีขึ้น ถ้าไม่หายอาจมีการผ่าตัด ถ้าดัดดึงจนหายดี ระยะนี้แพทย์จะให้ใส่รองเท้าพิเศษจนถึงอายุ 5 - 7 ขวบ การผ่าตัดควรพิจารณาในกลุ่มที่เป็นเท้าแข็งมากจนดัดไม่ได้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ สถาบันกระดูกและข้อ