ข้อควรระวังในการดูแลผู้สูงอายุ
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
22-มี.ค.-2565
ปัจจุบัน ประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับวิถีชีวิตของคนในสังคมก็ดำเนินไปอย่างเร่งรีบและแข่งขัน ทำให้ในแต่ละวันมีกิจกรรมให้ทำมากมาย เป็นเหตุให้ผู้สูงอายุที่บ้านถูกละเลย และไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุอย่างมาก เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดีสิ่งที่ลูกหลานควรปฏิบัติ ดังนี้


1. ให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่า มีความสำคัญ และมีความหวังในชีวิต เช่น ขอคำแนะนำต่าง ๆ ขอความช่วยเหลือจากผู้สูงอายุให้ช่วยดูแลบ้าน หรือเป็นที่ปรึกษาอบรมเลี้ยงดูลูกหลาน
2. ควรระมัดระวังคำพูด หรือการกระทำที่แสดงออกต่อผู้สูงอายุ ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุเป็นอันดับแรก เช่น เชิญชวนให้รับประทานอาหารก่อน และตักข้าวให้
3. ให้ผู้สูงอายุเล่าเรื่องเหตุการณ์ประทับใจในอดีตของท่าน โดยรับฟังอย่างตั้งใจ จะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่า ยังมีคนชื่นชมในบางส่วนของชีวิตอยู่
4. อำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุได้ปฏิบัติกิจกรรมที่น่าสนใจต่างๆ
5. เอาใจใส่ดูแลเรื่องอาหาร และการออกกำลังกาย หรือทำงานตามความถนัดให้เหมาะสมกับวัย

7. หากผู้สูงอายุต้องการแยกบ้านอยู่ หรือต้องการไปอยู่สถานที่ที่รัฐจัดให้ก็ควรตามใจ และพาลูกหลานไป เยี่ยมเมื่อมีโอกาส หากผู้สูงอายุรู้สึกมีความสุข และต้องการอยู่ร่วมกับลูกหลานก็ให้อยู่บ้านเดียวกันเพื่อสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น
8. ช่วยให้ผู้สูงอายุมีโอกาสพบปะสังสรรค์กับญาติสนิท และเพื่อนร่วมวัยเดียวกัน โดยการพาไปเยี่ยมเยียน หรือเชิญเพื่อนฝูง ญาติมิตร มาสังสรรค์ที่บ้านเพื่อคลายความเหงา พาไปสถานที่ที่เป็นศูนย์รวมของผู้สูงอายุ เช่น วัด หรือชมรมผู้สูงอายุในชุมชน
9. ให้ความสำคัญ เห็นคุณค่า และเคารพยกย่องนับถือ ด้วยการเชื่อฟังคำสั่งสอนและข้อแนะนำจากผู้สูงอายุ
ให้อภัยในความหลงลืม และความผิดพลาดของท่าน ควรแสดงความเห็นอกเห็นใจอย่างเหมาะสมด้วย
10. ช่วยเหลือ ดูแลรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย หรือพาไปตรวจสุขภาพ พร้อมให้การดูแลอย่างใกล้ชิดเมื่อเจ็บป่วยหนัก หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง

ข้อควรระวัง ในการดูแลผู้สูงอายุ เรื่องการเคลื่อนไหวร่างกาย และการออกกำลังกาย

  • ควรรักษาความสะอาด เก็บกวาดสิ่งของให้เรียบร้อย เมื่อมีผู้สูงอายุอยู่ภายในบ้านเนื่องจากผู้สูงอายุอาจมีสายตาฝ้าฟาง ซึ่งเกิดขึ้นตามวัย อาจเกิดอุบัติเหตุทำให้กระดูกหักได้ ควรป้องกันไม่ทำพื้นให้ลื่น ควรให้ผู้สูงอายุจับราวป้องกันการล้ม เมื่อผู้สูงอายุเข้าไปอาบน้ำต้องระวังเพราะอาจลื่นล้มได้ ควรหาเก้าอี้ที่ยึดติดกับพื้นห้องน้ำให้นั่ง หากใช้เก้าอี้ธรรมดาเก้าอี้อาจไถลไปกับพื้นแล้วทำให้ผู้สูงอายุล้มได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก
  • ดูแลให้ผู้สูงอายุมีการเคลื่อนไหวร่างกายทุกส่วนอยู่เสมอ เช่น การเดิน การบริหารกล้ามเนื้อ และข้อต่างๆ ที่สำคัญ เช่น ข้อเข่า ข้อไหล่ และข้อนิ้วต่างๆ เพราะติดขัดได้ง่ายจากการเสื่อมถอยของเนื้อเยื่อข้อกระดูก และกล้ามเนื้อ
  • จัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุได้เคลื่อนไหวอยู่เสมอ ไม่นั่งแช่ดูทีวี หรือนอนอยู่บนเตียง ช่วยกันจัดให้มีการรวมกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ จะเป็นสิ่งที่ช่วยผู้สูงอายุทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ
  • การออกกำลังกาย หมายถึงการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวที่เพิ่มการใช้พลังงาน นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวร่างกายในการใช้ชีวิตประจำวัน ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อแนะนำวิธีการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสุขภาพของผู้สูงอายุแต่ละคน


หลักการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ


1. อาหาร ผู้สูงอายุต้องการพลังงานลดลง แต่ความต้องการสารอาหารต่างๆ ยังใกล้เคียงกับวัยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ควรลดอาหารประเภทไขมัน (น้ำมันจากสัตว์ และพืช ไข่แดงเนย) ประเภทคาร์โบไฮเดรต (ข้าว แป้ง และน้ำตาล) ผู้สูงอายุ ควรได้รับโปรตีน หรือกลุ่มเนื้อสัตว์ ประมาณ 50-60 กรัมต่อวัน หรือประมาณมื้อละ 2 ช้อนโต๊ะ ควรเป็นเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย โดยเฉพาะปลาจะดีที่สุด ผู้สูงอายุกินไข่ขาวได้ไม่จำกัด แต่ควรกินไข่แดงไม่เกิน 3 ฟองต่อสัปดาห์ ควรกินผักทั้งผักที่ใช้ใบ หัว และถั่วต่างๆ รวมถึงรับประทานผลไม้ที่ไม่หวานจัด ส่วนผลไม้ที่หวานจัด เช่น กล้วยสุก มะม่วงสุก ทุเรียน ลำไย ควรรับประทานแต่น้อย เพราะถ้ารับประทานมาก อาจจะทำให้เกิดโรคเบาหวาน ตามมาได้
2. ออกกำลังกาย ผู้สูงอายุควรออกกำลังกาย สัปดาห์ละประมาณ 3-4 ครั้ง เพื่อให้ร่างกายมีความคล่องตัว แข็งแรง ซึ่งจะทำให้การทรงตัว และการเคลื่อนไหวดีขึ้น ไม่หกล้มง่าย
3. สุขอนามัย การดูแลตนเองโดยพยายาม ลด ละ เลิก สิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่ เหล้า หรือพฤติกรรมเสี่ยง ต่าง ๆ รวมทั้งสังเกตการทำงานของอวัยวะในร่างกาย รวมถึงการขับถ่าย เป็นต้น พร้อมทั้งเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่อายุประมาณ 65 ปี เป็นต้นไป
4. อุจจาระ ปัสสาวะ ต้องให้ความสนใจเรื่องการขับถ่ายของผู้สูงอายุ บางรายอาจมีปัญหาระบบขับถ่าย ถ่ายยาก ถ่ายลำบาก หรือกลั้นขับถ่ายไม่ได้ ซึ่งจะต้องให้การดูแล แก้ไขไปตามสาเหตุ

5. อากาศ และแสงอาทิตย์ เน้นให้อยู่ในสถานที่ๆ มีสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่เหมาะสม
6. อารมณ์ อดิเรก อนาคต และอบอุ่น เป็น 4 อ. ที่เน้นทางความรู้สึกนึกคิด และจิตใจของผู้สูงอายุ เพื่อช่วยให้การมีชีวิตอยู่แต่ละวันมีความสุข รื่นรมย์กับการใช้ชีวิตให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ควรเข้าใจธรรมชาติของสิ่งต่างๆ และปรับความรู้สึกนึกคิดไปตามนั้น ไม่ยึดแต่ลักษณะเก่าๆ ดั้งเดิมที่เคยเป็นมา ควรมีงานอดิเรกที่น่าสนใจ แต่ไม่ควรเป็นภาระมากนัก เช่น หากอยู่คนเดียวไม่ควรเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก เพราะจะเป็นภาระในการซื้อหาและให้อาหาร หรือถ้าสัตว์เจ็บป่วย เสียชีวิต ก็จะเกิดความสลดหดหู่ และจิตใจเศร้าหมองได้ ผู้สูงอายุควรพยายามเข้าร่วมในสังคมกลุ่มต่างๆ ตามสมควร การมีเพื่อนรุ่นเดียวกัน หรือต่างรุ่นจะทำให้มีความอบอุ่น และรู้สึกถึงคุณค่าของตน
7. อุบัติเหตุ อาจทำให้เกิดความบาดเจ็บ หรือความพิการต่างๆ ได้ทุกขณะ ควรดูแลสภาพบ้านเรือนให้ปลอดภัย มีแสงสว่างพอเหมาะ พื้นไม่ลื่น หรือควรมีราวจับในบริเวณที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้บ่อยๆ เช่น ห้องน้ำ เป็นต้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ สถาบันกระดูกและข้อ