“โรคมือ เท้า ปาก” อันตรายที่มาพร้อมกับฝน
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
23-พ.ย.-2565
มีการสำรวจจากกรมควบคุมโรคเรื่องของ “โรคมือ เท้า ปาก” พบว่าเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีในประเทศไทยมีโอกาสเป็นโรคมือ เท้า ปาก จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

แม้ว่าจะมีการรณรงค์หรือให้ความรู้เรื่องการดูแลและการป้องกันโรคนี้อยู่เป็นประจำในทุกๆ ปี ซึ่งในปี 2558 มีเด็กมากกว่า 7 หมื่นคนเป็นโรคมือ เท้า ปากนี้ และสามารถพบโรคนี้ได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบได้มากที่สุดในฤดูฝน

หากพ่อแม่เข้าใจสาเหตุและการป้องกันการเกิดโรคเป็นอย่างดี จะสามารถลดและป้องกันไม่ให้ลูกน้อยเป็นโรคมือ เท้า ปากได้มากขึ้น

ลูกน้อยเป็นโรคมือ เท้า ปากได้อย่างไร
โรคติดต่ออีกหนึ่งชนิดที่มักจะพบในเด็ก โดยการรับเชื้อจากทางปาก จากการที่เด็กไปสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อเปื้อนอยู่ สัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ที่เป็นโรคมือ เท้า ปาก หรือการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ก็ได้เช่นกัน และยิ่งเด็กที่มีภูมิคุ้มกันน้อยจะยิ่งสามารถติดเชื้อโรคมือ เท้า ปากได้ง่าย

อาการ… หลังได้รับเชื้อ
เมื่อเด็กได้รับเชื้อไปแล้วประมาน 3 – 7 วัน เด็กจะเริ่มแสดงอาการเช่น การอ่อนเพลีย ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร มีน้ำมูก เจ็บคอ คลื่นไส้ และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันจะเริ่มมีตุ่มพองเล็กๆ เป็นจุดนูนแดงที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และตุ่มน้ำใสๆ อยู่ในปาก ตุ่มแดงเหล่านี้จะกลายเป็นตุ่มน้ำในภายหลังพร้อมกับมีอาการเป็นไข้ แต่ไข้นี้จะหายภายใน 3 – 4 วัน หลังจากนั้นตุ่มแดงหรือตุ่มน้ำใสก็จะค่อยๆ หายตามไปภายใน 7 วัน

แม้ว่าโรคนี้จะดูคล้ายๆ กับอาการของโรคอีสุกอีใส แต่ความรุนแรงกลับมีมากกว่าหากเด็กที่เป็นโรคมือ เท้า ปากมีภูมิต้านทานต่ำหรือมีอายุน้อยกว่า 3 ปี อาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อัมพาต หรือถึงชั้นเสียชีวิตก็ได้ ดังนั้นหากคุณทราบอาการของโรคนี้ควรรีบพาเด็กไปหาหมอเพื่อให้รักษาได้ทันท่วงที


แค่เลี่ยง… ก็หมดเสี่ยงโรค
โรคมือ เท้า ปากเกิดจากการติดเชื้อที่เด็กเอาเข้าสู่ร่างกายโดยตรงดังนั้นหากเราสามารถเลี่ยงข้อควรระวังต่าง ๆ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมือ เท้า ปากของลูกน้อยได้
1.เลี่ยงการให้เด็กเข้าไปคลุกคลีกับเด็กอื่นที่ป่วย ป้องกันการติดเชื้อจากการสัมผัสเชื้อจากการไอ จาม หรือการรับประทานอาหารร่วมกัน
2.เลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอด ช้อนส้อม ของเล่น เป็นต้น เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ
3.เลี่ยงการนำสิ่งของหรือนิ้วมือเข้าปาก หากไม่ได้ล้างมือให้สะอาดก่อน
4.เลี่ยงการสัมผัสสิ่งสกปรก หากลูกน้อยสัมผัสของใช้ที่เป็นของสาธารณะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรฝึกและสอนให้ลูกล้างมือให้สะอาดอยู่เป็นประจำ จะได้ลดความเสี่ยงในการเอาเชื้อโรคเข้าปาก


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

กุมารเเพทย์ ศูนย์กุมารเวช  อาคาร 3 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4

โทร.02-514-4141 ต่อ 3320-3221
Line id : @Paolochokchai4