เด็กติดโควิด ต้องระวังอย่าให้อาการรุนแรง
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
11-ม.ค.-2566

เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 จะมีอาการที่หลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่โดยส่วนใหญ่มักมีอาการคล้าย ไข้หวัดใหญ่  ซึ่งหากเด็กมีประวัติว่ามีการสัมผัสกับคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดที่มีการติดเชื้อโดยไม่มีการป้องกัน ไม่สวมหน้ากาก หรือไม่รักษาระยะห่าง หรือใช้ข้าวของร่วมกัน ก็ควรรีบตรวจว่าเด็ก ติดเชื้อโควิด-19”   หรือไม่ อาการที่เป็นใช่ โควิด”  จริงหรือเปล่า


ทำไม ? ต้องระวังเมื่อเด็กติดเชื้อโควิด

เพราะเด็กยังอยู่ในช่วงวัยที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ดีพอหากมีการติดเชื้อโควิด และยิ่งในกลุ่มเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี หรือในเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะอ้วน โรคเบาหวาน โรคหอบหืด และโรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด เด็กกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังตั้งแต่การป้องกันไม่ให้เด็กเกิดการติดเชื้อด้วยการดูแลสุขอนามัย เช่น ก่อนสัมผัสเด็กในแต่ละครั้ง ควรล้างมือให้สะอาด และไม่เข้าใกล้เด็กหากรู้สึกว่าตนเองไม่สบายตัว ซึ่งอาจมีการติดเชื้อโควิดแล้ว แต่ยังไม่ได้ตรวจยืนยัน และในกรณีที่เด็กเกิดการติดเชื้อแล้ว ควรได้รับการดูแลจากกุมารแพทย์ และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด


อาการและความเสี่ยงเมื่อเด็กติดเชื้อโควิด

1.เชื้ออาจลงปอด ทำให้มีอาการรรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

2.มีผลกระทบต่อพัฒนาการและสภาพจิตใจของเด็ก เพราะต้องทำการรักษาหรือกักตัวอยู่ในพื้นที่แคบเป็นเวลานานถึง 10 วัน ทำให้เด็กรู้สึกเบื่อ เนื่องจากไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกันกับเพื่อน

3.ภาวะ MIS-C ซึ่งเป็นอาการอักเสบรุนแรงที่เกิดได้ในหลายระบบของร่างกาย สามารถเกิดได้ตั้งแต่ติดเชื้อไปจนถึงหายจากโควิดแล้ว 2-8 สัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็น ไข้สูง อาเจียน ท้องเสียรุนแรง ผื่นขึ้นตามตัว ปวดหัว ซึม หรือมีอาการชัก ตาแดง ปากแดง ปากแห้งแตก ตุ่มรับรสที่ลิ้นมีขนาดใหญ่ผิดปกติ ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต หายใจเหนื่อย หอบ ปวดท้อง ลำไส้อักเสบ



สังเกตอาการเมื่อเด็กได้รับเชื้อโควิด-19

  • มีไข้สูง 37.5 องศาเซลเซียส
  • หายใจติดขัด หรือ หายใจเร็ว
  • จมูกไม่ได้กลิ่น เเละลิ้นไม่รับรส
  • คลื่นไส้อาเจียน มีอาการท้องเสียร่วมด้วย
  • ผื่นขึ้นตามตัว
  • ไอ มีเสมหะ หรือ เจ็บคอ
  • เบื่ออาหาร หรือในเด็กทารกอาจจะกินนมได้น้อยลง

 

การรักษาเมื่อเด็กติดโควิด

รักษาตามอาการของเด็กในแต่ละคน หากมีอาการรุนแรง ไม่ว่าจะไข้สูง อาเจียน ถ่ายเหลว หรือมีอาการชัก จะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพื่อเฝ้าระวังและติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ แต่หากไม่มีอาการหรืออาการไม่มาก ก็ให้กักตัวที่บ้าน โดยคุณพ่อคุณแม่จะต้องเฝ้าดูอาการของลูกตลอดเวลา และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีอาการผิดปกติให้รีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที


ควรเริ่มฉีดวัคซีนโควิดในเด็กตั้งแต่อายุกี่ปี ?

วัคซีนโควิด เริ่มฉีดได้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว ซึ่งควรฉีดให้ครบตามกำหนด เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เเข็งเเรง และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงในระหว่างที่ติดเชื้อโควิด


การป้องกันจากเชื้อโควิด-19

  • เว้นระยะห่างจากบุคคลอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร
  • สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อจำเป็นต้องออกจากบ้าน และควรเปลี่ยนหน้ากากอนามัยทุกวัน
  • ล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
  • หลีกเลี่ยงการเอามือสัมผัสบริเวณหน้า โดยเฉพาะ ตา จมูก ปาก
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการใช้ของเล่นหรืออุปกรณ์ร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปที่แออัด หรือมีคนพลุกพล่าน

 

ทั้งนี้ ควรให้เด็กที่มีช่วงอายุตามเกณฑ์ เข้ารับ การฉีดวัคซีนโควิด ให้ครบตามกำหนด และหมั่นตรวจเช็กอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากมีการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือมีอาการป่วยหลังจากการไปโรงเรียน ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรงหากมีการติดเชื้อโควิดในเด็ก

 

สอบถามรายละเอียด
ศูนย์กุมารเวช  อาคาร 3 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร. 02-514-4141 ต่อ 1100-1101     
Line id : @Paolochokchai4