เช็คให้ชัวร์…เรากำลังเป็น “โรคหัวใจ” หรือเปล่า?
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
14-มิ.ย.-2566
titleด้วยชั่วโมงการทำงานที่อัดแน่นและวิถีชีวิตที่เคร่งเครียด รวมถึงการกินอาหารตามสั่งที่อุดมไปด้วยไขมัน น้ำตาล และโซเดียม นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนในปัจจุบันเสี่ยงต่อการเป็น “โรคหลอดเลือดหัวใจ” กันมากขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่า โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนทั่วโลก และในประเทศไทยเองก็พบว่ามีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มมากขึ้นทุกปี

สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “หัวใจ” เราควรรู้อะไรบ้าง?
“หัวใจ” อยู่ใต้กระดูกหน้าอกด้านซ้าย มีขนาดประมาณกำปั้นของเจ้าของ เป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อลายที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของจิตใจหรือความคิด หัวใจจะทำหน้าที่สูบฉีดเลือดเพื่อนำออกซิเจนและธาตุอาหารไปเลี้ยงอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย โดยการบีบตัวและคลายตัวอยู่ตลอด 24 ชั่วโมงแบบที่ไม่ได้หยุดพัก ดังนั้น เราจึงควรดูแลสุขภาพหัวใจให้ดี ด้วยถือเป็นอวัยวะสำคัญ เพราะหากหัวใจเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดอย่างการมีตะกรันไขมันพอกพูน หัวใจก็จะต้องทำงานหนักขึ้นและอ่อนแอลงเรื่อยๆ ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ตรวจคัดกรองหรือทำการรักษา หลอดเลือดหัวใจก็ค่อยๆ ตีบและตันในที่สุด ถึงวันนั้นก็จะเกิดภาวะหัวใจวาย ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต การตรวจหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

ประเภทของ “โรคหัวใจ” และสาเหตุของการเกิดโรค
  • โรคที่เกิดกับหัวใจย่อมส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ และนำไปสู่ความบกพร่องในการทำงานของอวัยวะต่างๆ จากการได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ โดยตัวโรคหัวใจเอง สามารถแบ่งได้เป็นหลายกลุ่ม เช่น
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจ
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • โรคลิ้นหัวใจ
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ
ซึ่งสาเหตุของการเกิด โรคหัวใจ มีทั้งที่เป็นความผิดปกติมาแต่กำเนิด หากบางครั้งก็ไม่มีอาการแสดงในขณะที่เป็นเด็ก แต่มาเกิดอาการภายหลังตอนเป็นผู้ใหญ่ และโรคหัวใจที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายตามอายุและพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจเกิดได้จากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง เช่น การสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่มือสองจากคนใกล้ชิด การรับประทานอาหารมีไขมันสูง น้ำตาลสูง อาหารรสเค็มที่มีโซเดียมสูงหรืออาหารแปรรูป

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของน้ำหนักตัวที่มากเกินไป ขาดการออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ รวมไปถึงมีความเครียดสะสมและมีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งหากใครมีพฤติกรรมหรือมีปัญหาสุขภาพเหล่านี้ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคหัวใจโดยไม่ต้องรอให้มีอาการเตือนใดๆ

5 อาการของโรคหัวใจในระยะเริ่มต้น
1. เจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก พบบ่อยในคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และไขมันอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจอึดอัดและแน่นบริเวณกลางหน้าอก โดยส่วนมากมักจะแสดงอาการเวลาที่หัวใจต้องทำงานหนัก หรือในขณะที่ใช้แรงมากๆ
2. หอบหรือเหนื่อยง่ายผิดปกติ ผู้ป่วยจะรู้สึกได้ว่าอัตราการหายใจหรือการเต้นของหัวใจจะสูงกว่าปกติมากเมื่อออกกำลังกายหรือทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ และมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็วขณะออกแรง หรือบางครั้งแม้อยู่เฉยๆ ก็รู้สึกได้ บางรายอาจเป็นหนักถึงขนาดนอนราบไม่ได้ เพราะจะแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก
3. ใจสั่นและหัวใจเต้นผิดจังหวะ ปกติหัวใจจะเต้นด้วยจังหวะที่สม่ำเสมอประมาณ 60-100 ครั้ง/นาที แต่สำหรับคนที่มีอาการผิดปกติ อาจขยับไปถึง 150-250 ครั้ง/นาที ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอนี้จะทำให้เหนื่อยง่าย ใจสั่น หายใจไม่ทัน
4. เหนื่อยเวลาออกกําลังกาย ขณะที่เราออกกําลังกายหัวใจจะทํางานหนักขึ้น ในรายที่มีอาการเริ่มต้นของโรคหัวใจ แม้ออกกำลังกายเพียงเล็กน้อยก็จะรู้สึกเหนื่อยผิดปกติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
5. เป็นลมหมดสติ หรือมีอาการวูบ คนที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ บางรายอาจเป็นมากถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นชั่วขณะ หรือบางคนมีความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการทำงานของหัวใจ จึงทำให้วูบ และอาจรู้สึกหน้ามืด จะเป็นลม ตาลาย มองเห็นภาพไม่ชัดเจนอยู่บ่อยๆ

โรคหัวใจ ลดเสี่ยงและป้องกันได้ โดยเริ่มต้นที่ตัวเรา
เราสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ด้วยตนเอง โดยการเข้ารับการตรวจสุขภาพหัวใจ และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งอาจเริ่มต้นง่ายๆ ได้ดังนี้
  • ปรับประเภทอาหาร หันมากินผัก ผลไม้ไม่หวาน และธัญพืชให้มากขึ้น ลดอาหารไขมันสูง โซเดียมสูง และของหวานต่างๆ ให้น้อยลง
  • หมั่นออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอเพื่อให้หัวใจแข็งแรงขึ้น สูบฉีดเลือดได้ดีขึ้น สำหรับผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน หรือว่างเว้นไปนาน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มออกกำลังกาย
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • เลิกหรือลดการสูบบุหรี่ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก หลับอย่างมีคุณภาพ
  • ในด้านจิตใจ ควรจัดสรรเวลาให้รู้สึกผ่อนคลาย อาจใช้การทำสมาธิเพื่อขจัดความเครียดสะสม หรือทำกิจกรรมที่ชอบ
  • ดูแลรักษาโรคประจำตัวต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง

เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ชีวิตเราอยู่ห่างไกลจาก “โรคหัวใจ” ได้มากขึ้นแล้ว




ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

คลินิกศูนย์หัวใจ อาคาร 5 ชั้น 2

โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4

โทร 02- 514-4141 ต่อ 5204
Line id : @Paolochokchai4