มะเร็งเต้านม รู้ทันก่อนสาย..ด้วยการตรวจดิจิตอลแมมโมแกรม
โรงพยาบาลเปาโล
09-เม.ย.-2567

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม (Digital Mammogram) และการตรวจอัลตร้าซาวด์เต้านม (Breast Ultrasound) ร่วมกัน จะทำให้เห็นรายละเอียดของเต้านม รวมถึงสิ่งผิดปกติที่มีขนาดเล็กมากๆ เกินกว่าที่จะคลำได้


มะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทั้งนี้จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะตระหนักถึงโรคร้ายนี้ก็ต่อเมื่อเกิดอาการแล้ว ทั้งๆ ที่โรคนี้สามารถตรวจคัดกรองด้วยการทำดิจิตอลแมมโมแกรม และจากการตรวจของแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งสามารถตรวจพบสัญญาณความผิดปกติ หรือแม้แต่การพบก้อนที่เต้านมตั้งแต่ยังมีขนาดเล็ก ที่ทำให้ตัดสินใจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่นๆ จนแน่ใจได้ว่ากำลังเริ่มเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ และเมื่อพบโรคก่อนระยะลุกลามย่อมมีประโยชน์อย่างมาก เพราะจะได้เริ่มรักษาอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีโอกาสหายขาดมากกว่า จึงอยากให้ผู้หญิงทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรองนี้


หัวข้อที่น่าสนใจ


ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

  • พันธุกรรม ถ้ามีประวัติคนในครอบครัว โดยญาติสายตรงลำดับหนึ่ง (มารดา พี่สาว น้องสาว) เป็นมะเร็งเต้านม 1 คน จะมีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้นกว่าคนทั่วไป 2 เท่า ถ้ามีญาติเป็นมากกว่า 1 คน มีญาติเป็นมะเร็งเต้านมเมื่ออายุน้อย เป็นมะเร็งเต้านมทั้งสองข้าง เป็นทั้งมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ หรือมีญาติผู้ชายเป็นมะเร็งเต้านมจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก

  • เชื้อชาติ คนอเมริกัน ยุโรป และแอฟริกัน มีความเสี่ยงมากกว่าคนเอเชีย

  • ยีน หลายชนิดที่มีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม เช่น BRCA1 และ BRCA2 ซึ่งเมื่อเกิดความผิดปกติที่ยีนตัวใดตัวหนึ่งนี้ จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า ถ้ามียีน BRCA1 ผิดปกติ มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมประมาณ 50-90% ถ้า BRCA2 ผิดปกติ มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมประมาณ 50% นอกจาก BRCA แล้ว ก็ยังมียีนอื่นๆ อีก แต่เปอร์เซ็นต์ไม่สูงมาก

  • ลักษณะเนื้อเต้านม ที่หนาแน่นจากผลของแมมโมแกรม (Mammographic density) พบว่าเต้านมที่มีลักษณะหนาแน่นมาก มีความเสี่ยงมากขึ้น 2-6 เท่า อีกทั้งการรับประทานยาฮอร์โมนสำหรับสตรีวัยทองมีผลทำให้เต้านมหนาแน่นขึ้น

  • เริ่มมีประจำเดือนเร็ว หมดประจำเดือนช้า เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม เนื่องจากการเริ่มมีประจำเดือนเร็ว แสดงว่ารังไข่ผลิตฮอร์โมนเพศหญิงมากระตุ้นเต้านมเร็วขึ้น และหญิงที่ประจำเดือนหมดเร็วหรือถูกตัดรังไข่ออกทั้งสองข้างจะทำให้ความเสี่ยงลดลง ส่วนการตัดมดลูกไม่มีผลใดๆ


ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมที่พอจะหลีกเลี่ยงได้

  • อายุตอนมีบุตรคนแรก หญิงที่มีบุตรหลังอายุ 35 ปี พบว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าหญิงที่มีบุตรคนแรกเมื่ออายุ 20 ปี 40-60% ดังนั้น การมีบุตรเร็วจึงลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม

  • ยาฮอร์โมนสำหรับหญิง วัยทองถ้าใช้เกิน 5 ปี ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 35% แต่ความเสี่ยงจะลดลงมาเท่าความเสี่ยงปกติของคนทั่วไปหลังจากหยุดยาไปแล้ว 5 ปี

  • ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) หญิงวัยหมดประจำเดือนที่อ้วนจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น สาเหตุน่าจะเกิดจากการที่รังไข่หยุดสร้างฮอร์โมน แต่มีการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงจากเซลล์ไขมัน

  • การกินอาหารที่มีไขมันสูง อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้ 10-50% ซึ่งอาจเกิดจากทำให้มี BMI สูง หรืออาจจะเกิดจากเนื้อแดงที่ผ่านความร้อนจนไหม้ ซึ่งเป็นตัวการที่เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมมากกว่า

  • ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ขณะที่กินยาคุมกำเนิดจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น 24% และเมื่อหยุดใช้ ความเสี่ยงจะลดลงเรื่อยๆ จนเหมือนปกติเมื่อหยุดกินยานานเกิน 10 ปี


ปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม

  • การออกกำลังกายเป็นประจำ อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมลง 10-50%

  • จำนวนบุตร การมีบุตรหลายคนช่วยลดความเสี่ยง โดยลดลง 7% ต่อบุตร 1 คนที่เพิ่มขึ้น

  • การให้นมบุตร ยิ่งให้ปริมาณมากและนานยิ่งลดความเสี่ยง เพราะการให้นมบุตรจะทำให้รังไข่กลับมาทำงานช้าลง และยังทำให้เซลล์เต้านมพัฒนาให้ทนต่อสารก่อมะเร็ง (differentiation) อีกด้วย

  • กินอาหารประเภทถั่วเหลือง อาจมีฤทธิ์ในทางป้องกัน เพราะในถั่วเหลืองมีสารคล้ายฮอร์โมนเพศหญิง ได้แก่ isoflavones แต่ออกฤทธิ์อ่อนกว่าฮอร์โมนในร่างกายหลายเท่า จึงน่าจะมีผลในทางลดฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายสตรีวัยที่ยังมีประจำเดือน


มีอาการแบบนี้...เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม ควรรีบพบแพทย์

  • คลำพบก้อนแข็งที่เต้านม

  • มีน้ำออกจากหัวนม ยิ่งถ้าไหลออกมาเองโดยยังไม่ได้บีบก็เสี่ยงมากขึ้น

  • หัวนมบอด ที่เกิดขึ้นภายหลัง ทั้งๆ ที่ตอนวัยรุ่นหรือตอนสาวๆ หัวนมไม่บอด

  • เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังบริเวณเต้านม เช่น นูนขึ้น หรือมีรอยบุ๋มลง

  • เกิดก้อนในเต้านมลามมาที่ผิวหนัง จนมีลักษณะเป็นแผล มีตุ่มแข็งที่ผิวหนัง ผิวหนังบวมคล้ายผิวส้ม มีแผลหรือผื่นที่หัวนมและลานหัวนม

  • เต้านมเกิดการอักเสบเรื้อรังจนบวมแดง บางรายคลำพบก้อนที่รักแร้ร่วมด้วย
    มีความผิดปกติบริเวณเต้านม ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่มีอาการเจ็บ ส่วนน้อยที่จะเกิดอาการเจ็บ


การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยดิจิตอลแมมโมแกรม (Digital Mammogram)
การตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม (Digital Mammogram) และการตรวจอัลตร้าซาวด์เต้านม (Breast Ultrasound) ร่วมกัน เป็นการตรวจที่จะทำให้แพทย์เห็นรายละเอียดของเต้านม รวมถึงสิ่งผิดปกติที่มีขนาดเล็กมากๆ เกินกว่าที่จะคลำได้ การตรวจด้วยวิธีนี้ถือเป็นการตรวจเต้านมที่ได้มาตรฐานและได้รับการยอมรับในระดับสากล และเป็นวิธีตรวจที่เหมาะกับผู้หญิงทั่วไป ทั้งนี้ ผู้หญิงหลายคนกังวลใจว่า การตรวจที่มีการบีบการกดเต้านมจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งจริงๆ แล้วการตรวจลักษณะนี้ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยง อีกทั้งการทำแมมโมแกรมเป็นระบบดิจิตอลจะเป็นการตรวจที่ใช้ปริมาณรังสีที่ค่อนข้างต่ำ เปรียบเทียบง่ายๆ ว่า การทำแมมโมแกรม 1 ครั้งเทียบเท่ากับการเอกซเรย์ปอด 2 รูปเท่านั้นเอง ซึ่งถือว่าจะได้รับรังสีน้อยมากๆ

วิธีรักษามะเร็งเต้านม
เมื่อมีการวินิจฉัยด้วยการตรวจแมมโมแกรม อัลตร้าซาวด์ และได้ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจจนพบแล้วว่าเป็นมะเร็งเต้านมอย่างแน่นอน การรักษาก็จะเริ่มต้นขึ้น โดยการรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบัน มักเป็นการรักษาแบบ Individual Life ซึ่งจะประกอบด้วยทีมแพทย์สหสาขา ไม่ว่าจะเป็น ศัลยแพทย์ผ่าตัด แพทย์เคมีบำบัด แพทย์รังสีรักษา และแพทย์ด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละกรณี ซึ่งแพทย์ทั้งหมดจะทำการวินิจฉัยและพิจารณาแนวทางการรักษาร่วมกัน หรือเรียกได้ว่าเป็นการให้การรักษาแบบเฉพาะบุคคลที่เกิดจากแพทย์ร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันหลายๆ คน โดยการรักษามีหลายวิธี คือ

  • การผ่าตัด โดยแพทย์จะพิจารณาจากลักษณะโรค ระยะของโรค พื้นฐานความเหมาะสมของร่างกายคนไข้ และความต้องการของคนไข้ ซึ่งทุกขั้นตอนในการรักษามะเร็งเต้านมจะเน้นการดูแลแบบเฉพาะบุคคล (Individual Life) หลังการผ่าตัด คนไข้ส่วนใหญ่จะได้รับยารักษามะเร็งต่อ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะและลักษณะของมะเร็งเต้านมในแต่ละคน ในบางรายก็อาจมีการฉายแสงร่วมด้วย เช่น ผู้ที่มีก้อนมะเร็งขนาดตั้งแต่ 5 ซม.ขึ้นไป หรือมะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองมากกว่า 1-3 ต่อม เป็นต้น

  • การให้ยารักษามะเร็ง ได้แก่ ยาเคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมน หรือยาแบบมุ่งเป้า

  • การฉายแสง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับลักษณะและระยะของโรค เช่นกัน



อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงทุกคนที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ควรเฝ้าระวังโรคมะเร็งเต้านม ด้วยการตรวจดิจิตอลแมมโมแกรมร่วมกับการทำ
อัลตร้าซาวด์เต้านมปีละครั้ง หรือหากอายุยังไม่ถึง 40 ปี แต่พบว่าตนเองมีความเสี่ยงจากปัจจัยอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้วหลายปัจจัย อาจจะเริ่มตรวจตั้งแต่ยังอายุน้อยๆ เริ่มด้วยการปรึกษาแพทย์ และไม่ว่าใครก็ตามหากคลำพบหรือพบความผิดปกติของเต้านมดังกล่าว ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้ตรงจุด จะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงที