7 กลุ่มเสี่ยงโรคไข้หวัดใหญ่
โรงพยาบาลเปาโลรังสิต
03-ม.ค.-2566

หลายคนอาจคิดว่าไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง ด้วยโรคนี้มีคำว่าไข้หวัดที่เราคุ้นเคยกันว่าเป็นโรคประจำถิ่น หากเป็นเมื่อไหร่ก็แค่กินยารักษาไปตามอาการก็หายเองได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับพบว่า ในประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ถึงปีละกว่า 4 แสนราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ในอัตรา 0.04 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน เลยทีเดียว

 

โรคไข้หวัดใหญ่จากเชื้อ “ไวรัสอินฟลูเอนซา” พบได้ในทุกฤดูกาล

แม้เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่อินฟลูเอนซา (Influenza, Flu) จะระบาดมากกว่าปกติในช่วงฤดูฝน แต่ในฤดูอื่นๆ ก็พบการระบาดอยู่ไม่น้อย ซ้ำร้าย... เจ้าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่นี้ยังพัฒนาสายพันธุ์อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ในทุกๆ ปี องค์การอนามัยโลก (WHO) จะต้องเลือกเชื้อไวรัสตัวสำคัญที่คาดว่าจะมีการระบาดมากมาพัฒนาเป็นวัคซีนใหม่ๆ และประกาศให้ใช้ในแต่ละแถบซีกโลก

 

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่?

เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แพร่ระบาดและติดต่อได้ง่ายผ่านการไอ จาม หรือแม้แต่การพูดคุยใกล้ชิดกับผู้ป่วย หากมีการสูดเอาละอองในอากาศที่มีเชื้อไวรัสเข้าไป ประกอบกับร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ไม่ดีพอ ก็จะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ง่ายและมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้สูง ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่ว่านี้ มีอยู่ 7 กลุ่ม คือ

  1. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี : เนื่องจากเด็กแรกเกิดจนอายุ 2 ปี ยังอยู่ในช่วงสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ร่างกายจึงยังต้านทานเชื้อไวรัสได้ไม่ดีพอ เมื่อติดเชื้อจึงมีอาการค่อนข้างรุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย
  2. สตรีมีครรภ์ : คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มักมีความเสถียรของภูมิคุ้มกันที่ไม่แน่นอนจากการที่ต้องแบ่งสารอาหารต่างๆ ให้แก่ลูกน้อยในครรภ์ จึงง่ายต่อการติดเชื้อและเจ็บป่วย
  3. ผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกินมาตรฐาน BMI : การที่ร่างกายมีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ BMI หรือ Body Mass Index 25 ขึ้นไปนั้น จะทำให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานหนักกว่าที่ควรจะเป็น หากอยู่ในภาวะนี้นานๆ ระบบต่างๆ ของร่างกายก็จะเสื่อมเร็วขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  4. ผู้พิการทางสมอง ในกรณีที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ : กรณีผู้พิการทางสมอง การใช้ชีวิตประจำวันก็จะแตกต่างจากคนทั่วไปอยู่แล้ว การออกกำลังกายก็น้อย การดูแลป้องกันตนเองจากโรคภัยไข้เจ็บก็ทำได้ไม่ดีเท่าคนปกติ ทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
  5. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง : ภูมิคุ้มกัน คือเกราะป้องกันเชื้อโรค ไม่ว่าจะเชื้อไวรัสหรือเชื้อใดๆ ดังนั้นใครก็ตามที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายและเล่นงานอวัยวะต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
  6. ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง : โรคเรื้อรังในที่นี้หมายถึง โรคปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคไต ที่ต้องให้การรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ป่วยโรคเรื้อรังจะมีสภาพร่างกายที่เอื้อต่อการติดเชื้อและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย
  7. ผู้สูงวัย อายุ 65 ปีขึ้นไป : เมื่ออายุมากขึ้นและพ้นวัยของการเจริญเติบโตมานาน ระบบต่างๆ ในร่างกายก็มีแต่จะเสื่อมถอย รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันด้วย เหตุนี้เองจึงทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ทั้งยังก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงกว่าด้วย

 

จะสังเกตได้ว่า การที่ทั้ง 7 กลุ่มเสี่ยงมีโอกาสป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่และเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูงกว่าคนทั่วไป ก็เพราะมีร่างกายที่อ่อนแอและมีภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรง ซึ่งการจะมีร่างกายที่แข็งแรงขึ้นได้ก็ต้องรู้จักเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และพักผ่อนให้เพียงพอ ส่วนภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่นั้น เราสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ ซึ่งทุกคนและทุกวัยควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือตามคำแนะนำของแพทย์

 

ขอบคุณบทความดีๆ จาก

นพ.วีระยุทธ บุญเกียรติเจริญ

เวชศาสตร์ป้องกัน แผนกตรวจสุขภาพ

 

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

โรงพยาบาลเปาโล รังสิต

โทร. 0-2577-8111

รับข่าวสารและกิจกรรมสุขภาพได้ที่

Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต