โรคมือเท้าปาก - เชื้อไวรัสอันตรายระบาดในเด็กที่ควรระวัง
โรงพยาบาลเปาโลพระประแดง
21-มิ.ย.-2566

เพราะร่างกายของเด็กนั้นบอบบาง ภูมิคุ้มกันก็ยังต่ำ ทำให้เมื่อมีการสัมผัสกับเชื้อโรคต่างๆ รวมถึงเชื้อไวรัสก็จะป่วยหรือมีอาการค่อนข้างมาก และโดยธรรมชาติของเด็กๆ ก็มักมีการสัมผัสสิ่งของรอบตัวที่ปนเปื้อนเชื้อโรคโดยไม่ได้ระมัดระวัง รวมถึงเชื้อโรคจำนวนมากก็สามารถแพร่ผ่านระบบทางเดินหายใจ เราจึงต้องให้ความสำคัญกับสุขอนามัยของเด็กๆ เป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่รวมกลุ่มกัน หรือไปในที่ที่มีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก

 

โดยเฉพาะในฤดูฝน ที่มักมีการระบาดของโรคติดเชื้อ ซึ่งสามารถติดต่อระหว่างคนสู่คนได้ ผ่านการไอ จาม หรือสัมผัส เช่น โรคมือเท้าปาก โรคไข้หวัด โรคไข้ไวรัส RSV ปอดบวม และ หลอดลมอักเสบ คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ความใส่ใจและดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากพบอาการผิดปกติควรรีบพาไปพบแพทย์

 

โรคมือเท้าปาก ติดต่อง่าย พบได้ตลอดปี

โรคมือเท้าปาก หรือ Hand Foot Mouth Disease มักเรียกติดปากกันว่าโรคมือเท้าปากเปื่อย เป็นโรคที่ติดต่อและเกิดขึ้นได้ง่ายจากการติดเชื้อไวรัสที่ลำไส้ หรือเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งจะอาศัยอยู่ในลำไส้ของคนเรา ทั้งนี้ ทารกและเด็กเล็กจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้ง่าย และอาการมักรุนแรงกว่าในเด็กโต ซึ่งในประเทศร้อนชื้นอย่างประเทศไทยจะพบการระบาดได้ตลอดทั้งปี แต่จะระบาดมากในช่วงที่มีอากาศร้อนชื้นมากอย่างฤดูฝน กลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มเด็กทารก และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี มักพบการระบาดในสถานรับเลี้ยงเด็กและในโรงเรียนอนุบาล

 

โรคมือ เท้า ปากษติดต่อกันทางไหนได้บ้าง

สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสน้ำลาย น้ำมูก เสมหะ อุจจาระ และน้ำในตุ่มพองของผู้ป่วย โดยส่วนใหญ่จะมีการรับเชื้อเข้าทางปากโดยตรง ส่วนน้อยที่จะรับเชื้อทางการหายใจ แต่บางครั้งก็อาจติดมากับมือ ของเล่น การไอจามรดกัน รวมไปถึงการใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกัน โดยเมื่อได้รับเชื้อ จะเริ่มแสดงอาการเจ็บป่วยภายใน 3-6 วัน

 

อายุเท่าไหร่? สามารถฉีดวัคซีนโรคมือเท้าปาก ได้

ปัจจุบัน เราสามารถป้องกันและลดเสี่ยงการเป็นโรคมือเท้าปากได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก โดยเป็นวัคซีนที่ผลิตมาเพื่อต้านเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ซึ่งเป็นเชื้อที่อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงและมีภาวะสมองอักเสบได้ วัคซีนชนิดนี้มีข้อมูลด้านความปลอดภัย และยังไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรงแต่อย่างใด อายุที่เหมาะในการฉีดคือ เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี

 

อาการต้องสงสัย โรคมือเท้าปาก

  • มีไข้ติดต่อกัน 2-4 วัน
  • อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
  • เจ็บภายในปาก และคอ
  • ปวดเมื่อยตามตัว
  • มีจุด หรือผื่นแดงอักเสบ (ลิ้น เหงือก ฝ่าเท้า ก้น)
  • ต่อมาผื่นนี้จะกลายเป็นตุ่มใส รอบๆ แดง และแตกออก

 

โดยทั่วไปโรคนี้มักมีอาการไม่รุนแรงและหายเองได้ แต่หากเกิดภาวะแทรกซ้อน อาการจะรุนแรงจนอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็ก หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ไม่สามารถรับประทานอาหารและน้ำได้จนมีอาการขาดน้ำ ก้านสมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ดังนั้น หากผู้ปกครองสังเกตเห็นว่าเด็กมีอาการซึมลง ไม่ยอมรับประทานอาหารและน้ำ อาเจียนบ่อย มีอาการเหนื่อย ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที

 

ทั้งนี้เราสามารถป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ดีขึ้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่สอนให้ลูกๆ รักความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น สอนการล้างมืออย่างถูกวิธี ให้ล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่ายทุกครั้ง รวมถึงไม่ใช้ช้อน แก้วน้ำ หรือหลอดดูดร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะควรเว้นระยะห่างจากผู้ที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อต่างๆ และผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคมือเท้าปาก

  • ในรายที่มีอาการคัน อาจเกาจนเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งจะกลายเป็นตุ่มหนอง พุพอง
  • อาจเกิดภาวะขาดน้ำเนื่องจากการเจ็บแผลในปากจนทำให้ดื่มน้ำได้น้อย
  • ในบางรายอาจมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • ในรายที่เป็นรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสเอนเทอโรชนิด 71 (พบได้น้อย) มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักกว่าที่เกิดจากเชื้อไวรัสค็อกแซคกีเอชนิด 16 โดยมักจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท ระบบหัวใจ และปอดได้สูง ได้แก่ สมองอักเสบ อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก ภาวะปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema) หรือเลือดออกในปอด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) ซึ่งอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้
  • การติดเชื้อจากเชื้อไวรัสค็อกแซคกีเอชนิด 16 ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และภาวะช็อกได้ แต่จะพบได้น้อยกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับการติดเชื้อไวรัสเอนเทอโรชนิด 71

 

หมายเหตุ : อาการแทรกซ้อนจะไม่สัมพันธ์กับจำนวนแผลในปากหรือตุ่มที่พบตามฝ่ามือหรือฝ่าเท้า เพราะในรายที่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรงอาจมีแผลเพียงไม่กี่จุดในลำคอ หรืออาจมีตุ่มขึ้นเพียงไม่กี่ตุ่มตามฝ่ามือหรือฝ่าเท้าก็ได้ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองจึงควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิดในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก แม้ว่าผื่นและแผลในปากจะหายไปแล้วก็ตาม หากมีสัญญาณเตือนของภาวะแทรกซ้อนควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที  

 

สิ่งที่ควรทำ เมื่อพบอาการต้องสงสัย

  1. รักษาความสะอาด อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง แปรงฟันเช้าเย็น
  2. ตัดเล็บให้สั้น
  3. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะหลังการขับถ่าย และก่อนรับประทานอาหาร
  4. ทำความสะอาดของเล่น เครื่องใช้ของเด็กด้วยการซัก ล้าง แล้วผึ่งแดดให้แห้ง
  5. ถ้าเป็นเด็กอ่อน อาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดจากขวด

 

การรักษาโรคมือเท้าปาก

ปัจจุบันโรคมือเท้าปาก ยังไม่มียาต้านไวรัสที่ใช้จำเพาะ แต่สามารถรักษาตามอาการที่เป็น เช่น

  • ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาชาแก้เจ็บแผลในปาก
  • เช็ดตัวเพื่อลดไข้เป็นระยะๆ
  • ให้รับประทานอาหารอ่อนๆ
  • ให้ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยการขาดน้ำ หรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด
  • ดื่มน้ำและน้ำผลไม้บ่อยๆ
  • นอนพักผ่อนให้มากๆ
  • ในกรณีเด็กมีอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

 

แม้ส่วนใหญ่โรคมือเท้าปากมักมีอาการไม่รุนแรง และไม่มีอาการแทรกซ้อน สามารถหายได้เองใน 7-10 วัน แต่เชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส 71 อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ จึงควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบมีไข้สูง ซึม ไม่ทานอาหาร ไม่ดื่มน้ำ อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก ต้องรีบพาเด็กไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเกิดภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือน้ำท่วมปอด ซึ่งจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

ภูมิเเพ้ เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย ทั้งในวัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ หรือวัยผู้สูงอายุ โดยมีอัตราการป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมในปัจจุบันเต็มไปด้วยมลภาวะทางอากาศที่ทำให้สารก่อเกิดอาการภูมิแพ้เพิ่มสูงขึ้น เช่น ฝุ่นควันต่างๆ ฝุ่น PM.2.5 เป็นต้น ซึ่งโรคภูมิแพ้อาจรักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ ดังนั้น อย่าละเลยในการดูสุขภาพ เพราะอาจทำให้อาการภูมิแพ้รุนแรง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆตามมาได้

ภูมิแพ้ โรคที่ทำให้การใช้ชีวิตลำบาก ?
โรคภูมิแพ้ เกิดจากการที่ร่างกายของเราเกิดปฏิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้ที่ผิดปกติ ซึ่งคนที่เป็นภูมิแพ้จะมีปฏิกิริยาที่ตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้มากกว่าคนปกติ โดยสารก่อภูมิแพ้จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่
- สารก่อภูมิแพ้อากาศ ไร้ฝุ่น แมลงสาบ ขนแมว บุหรี่ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM.2.5 ควันรถ ละอองเกสรดอกไม้
- สารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในอาหาร เช่น โปรตีนต่างที่อยู่ในนมวัว ไข่ดาว ไข่แดง ถั่วลิสง และอาหารทะเล จำพวก กุ้ง ปู หอย เป็นต้น

ไข้หวัดหรือภูมิแพ้ ต่างกันอย่างไร
        หลายๆคนอาจกังวลใจว่าตนเองเสี่ยงเป็นภูมิแพ้ด้วยหรือไม่ เนื่องจากอาการไข้หวัดกับภูมิแพ้มีอาการคล้ายๆกัน โดยไข้หวัดจะเกิดจากเชื้อไวรัสเป็นหลัก และมีอาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือมีไข้ร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปเองประมาณ 1สัปดาห์ แต่หากเป็นภูมิแพ้ อาการแพ้ก็จะเกิดบริเวณจมูกหรือเยื่อบุโพรงจมูก และอาจเป็นๆหายๆ ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน เช่น จามหรือคัดจมูกตอนเช้า แต่พอเริ่มสายๆก็อาการดีขึ้น หรือมีอาการเวลาที่สัมผัสไร้ฝุ่น


ภูมิแพ้ โรคนี้เกิดจากอะไร
- ภูมิแพ้จากกรรมพันธุ์ เป็นโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ในกลุ่มที่ครอบครัวไม่มีประวัติป่วยเป็นโรคภูมิแพ้มาก่อน ซึ่งโอกาสเสี่ยงที่เป็นโรคภูมิแพ้ประมาณ 10% เนื่องจากสภาวะสิ่งแวดล้อมรอบตัวเต็มไปด้วยสารก่อให้เกิดภูมิแพ้ แต่หากในครอบครัวคนใดคนหนึ่งมีประวัติเคยเป็นโรคภูมิแพ้มาก่อน โอกาสที่จะเป็นก็มีประมาณ 50% หรือหากทั้งครอบครัวมีประวัติเคยเป็นภูมิแพ้ทั้งคุณแม่และคุณพ่อ โอกาสที่ลูกจะเป็นภูมิแพ้ก็มีสูงถึง 70%
- ภูมิแพ้จากสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ที่เข้าสู่ร่างกายของเรา เช่น การหายใจ การรับประทานอาหาร หรือการสัมผัสสารต่างๆ โดยสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย ก็คือ ไรฝุ่น ละอองเกสร ขนสุนัขหรือแมว และอาหารบางชนิด เช่น นมวัว ไข่ แป้งสาลี

อาการเสี่ยงเป็น ภูมิแพ้
- อาการภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูก จาม คัดจมูก คันจมูก คันตา เคืองตา นอนกรน ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะ หอบหืด หายใจลำบาก และเหนื่อยง่าย
- อาการภูมิแพ้ระบบผิวหนัง เช่น ผื่นคัน หรือลมพิษ ซึ่งจะเกิดจากการแพ้ยา แพ้อาหาร หรือการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งอาการแพ้จะเกิดบริเวณทั่วร่างกาย ทั้งใบหน้า แขน ขา
- อาการภูมิแพ้ระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้หรืออาเจียนหลังรับประทานอาหาร ถ่ายเหลว ถ่ายมีเลือดปน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากการแพ้นมวัว

ปัจจัยเสี่ยงเป็นภูมิแพ้
1. ซักประวัติอาการแพ้ เช่น คนในครอบครัวเป็นภูมิแพ้ไหม หรือมีสิ่งกระตุ้นอะไรบ้างที่ทำให้เกิดสารก่อภูมิแพ้ภายในบ้าน เช่น สูบบุหรี่ เลี้ยงสัตว์ และสิ่งแวดล้อมรอบบ้านมีไร้ฝุ่นบ้างไหม
2. การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง ด้วยการสะกิดผิว (Skin test) ซึ่งสามารถตรวจวินิจฉัย และทราบผลอาการแพ้ได้ภายใน 20 นาที โดยแพทย์จะหยดน้ำยาที่สกัดจากสารภูมิแพ้ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในอากาศหรือที่สงสัยว่าผู้ป่วยแพ้ เช่น ฝุ่น ขนสัตว์ แมลงสาบ ซึ่งวิธีนี้จะแนะนำให้ทดสอบกับผู้ที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป เนื่องจากผลการทดสอบภูมิแพ้อาจจะแสดงผลได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยวิธีการทดสอบแบบสะกิดผิวหนังหากเป็นผู้ใหญ่จะหยดน้ำยาสกัดลงไปที่ท้องแข็ง แต่หากเป็นเด็กเล็กก็จะหยดน้ำสกัดลงไปบริเวณที่หลัง ซึ่งจะต้องหยดลงไปบริเวณที่ไม่มีผื่นขึ้น รวมทั้งผู้ป่วยต้องงดยาแก้แพ้ หรือยาประเภทสเตรอยด์ มาด้วยก่อนทำการทดสอบภูมิแพ้
3. การทดสอบภูมิแพ้ด้วยการเจาะเลือด (Blood Test Allergy) โดยเป็นวิธีที่สามารถตรวจได้ทุกช่วงวัยทั้งผู้ใหญ่ เด็ก หรือผู้สูงอายุ โดยไม่ต้องงดยาแก้แพ้หรือยาสเตรอยด์ก่อนมาตรวจภูมิแพ้ ซึ่งวิธีนี้จะต้องนำเลือดไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ และอาจจะใช้เวลาในการรอผลเลือดประมาณ 7 วัน

เมื่ออาการแพ้รุนแรง อันตรายไหม ?
        หากปล่อยให้ภูมิแพ้เกิดอาการรุนแรง ก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้พร้อมๆกันได้หลายระบบในร่างกาย เช่น มีผื่นลมพิษ ปากบวมหรือตาบวม หายใจลำบาก และหน้ามืดเป็นลมหมดสติไป ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ต้องรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆตามมาได้

เมื่อเป็น ภูมิแพ้ ต้องรักษาอย่างไร ?
- การหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ เมื่อรู้ว่าตัวเองมีอาการแพ้สิ่งเหล่านั้น เช่น หากแพ้อาหารทะเลก็ไม่ควรกินอาหารทะเลเข้าไป หรืออาจคิดว่ากินไปได้แล้วค่อยกินยาตามไป ถ้าหากคิดแบบนั้นก็คงคิดผิด เพราะเมื่ออาการแพ้รุนแรงมากขึ้นก็อาจอันตรายถึงชีวิตได้
- การฉีดวัคซีนป้องกันภูมิแพ้ ซึ่งเป็นการฉีดป้องกันในสิ่งที่แพ้ เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้แข็งแรง
- สำหรับผู้ป่วยที่เป็นหอบหืด หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้หรือใช้ยาฉีดพ่นบริเวณรอบหน้าที่สัมผัสไร้ฝุ่น
- สำหรับผู้ป่วยภูมิแพ้ผิวหนัง ควรใช้สบู่หรือโลชั่นที่อ่อนโยนต่อผิวหนัง เพื่อเก็บรักษาความชุ่มชื่นให้กับผิวหนัง

มาเอาชนะ ภูมิแพ้ ด้วยการดูแลสุขภาพกัน
- ผู้มีอาการแพ้ขนสัตว์ หลีกเลี่ยงการนำสัตว์เลี้ยง เข้ามาในห้องนอน
- หลีกเลี่ยงการเข้าไปในห้องที่เพิ่งทำความสะอาดเสร็จ ควรรออย่างน้อย 20 นาที เพื่อรอให้ฝุ่นที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศตกลงสู่พื้นให้หมด
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น ควันบุหรี่ หมอกควัน
- ล้างมือทันที หลังจากสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น หลังจากสัมผัสสัตว์ หลังจากทำความสะอาดบ้าน หลังจากสัมผัสเกสรดอกไม้
- สวมหน้าทุกครั้ง เมื่อต้องออกจากบ้าน เพื่อป้องกันการสัมผัสสารก่อนภูมิแพ้ผ่านทางการหายใจ

ทั้งนี้ หากไม่แน่ใจ มีอาการ คัน, ผื่น, ตุ่ม, คัน หรือกังวลสามารถเข้ามาปรึกษากับแพทย์ได้ เพื่อหาแนวทางการป้องกันที่ดีที่สุดในการใช้ชีวิตประจำวันให้ห่างไกลจากโรคภูมิแพ้นั่นเอง 
 

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
คลินิกโรคภูมิแพ้สำหรับเด็ก ,คลินิกทันตกรรมสำหรับเด็ก
ศูนย์กุมารเวชกรรม 24 ชั่วโมง

โรงพยาบาลเปาโล พระประแดง
โทร. 02 818 9000 ต่อ 107 , 108


รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล พระประแดง

เพิ่มเพื่อน