แนวทางรับมือข้อเข่าเสื่อม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
22-มี.ค.-2565
title       โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในผู้สูงอายุ ทำให้เกิดอาการปวดเข่า บวมแดง เข่าฝืดยึด มีเสียงดังในเข่า ไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้อย่างปกติ ความรุนแรงมากน้อยต่างกันไป แม้จะมีการเตรียมรับมือหรือดูแลสุขภาพอย่างดีแล้วก็ตาม ก็อาจพบความเสี่ยงของโรคได้


ปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อเสื่อม

  • อายุ อายุมากมีโอกาสเป็นมากเนื่องจากความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ
  • เพศหญิง จะเป็นโรคเข่าเสื่อมมากกว่าผู้ชาย
  • อ้วน น้ำหนัก ยิ่งน้ำหนักตัวมากข้อเข่าจะเสื่อมเร็ว
  • การนั่งผิดท่าผิดทาง ผู้ที่นั่งยองๆ นั่งขัดขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบนานๆ จะพบข้อเข่าเสื่อมเร็ว
  • ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุที่ข้อเข่า ไม่ว่าจะกระดูกข้อเข่าแตกหรือเอ็นฉีก จะเกิดข้อเข่าเสื่อมได้
  • ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกน้อยหากไม่ค่อยได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ความแข็งแรงทนทานก็ลดน้อยถอยลง และยิ่งร่างกายไม่ได้รับแคลเซียมในปริมาณที่พอเพียง ก็ยิ่งส่งผลให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
  • ความบกพร่องของส่วนประกอบของข้อ เช่น ข้อเข่าหลวม กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง
  • กรรมพันธุ์ โรคข้อเข่าเสื่อมมีหลักฐานการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์


อาการแสดงของโรคข้อเข่าเสื่อม

  1. ปวดข้อเข่า รู้สึกเมื่อย ตึงที่น่อง และข้อพับเข่า ผิวหนังบริเวณข้ออุ่น หรือร้อนขึ้น
  2. ข้อขัด ข้อฝืด เหยียด งอเข่าได้ไม่สุด มีเสียงดังในข้อเวลาขยับข้อเข่าจากการเสียดสีกันของผิวข้อที่ไม่เรียบ
  3. ข้อเข่าบวม เพราะน้ำไขข้อมากขึ้นจากการอักเสบ หรือมีก้อนถุงน้ำในข้อพับเข่า จากเยื่อบุข้อเข่าแตก
  4. เข่าคดเข้า เข่าโก่งออก หรือมีกระดูกงอก ทำให้ข้อผิดรูปร่าง กล้ามเนื้อรอบข้อลีบเล็กลง

ในกรณีที่เข่าเสื่อมมาก หรือเป็นมานานอาจมี
  • ข้อเข่าติดผิดรูป เช่น เข่างอ ขาโก่ง แอ่น หรือเข่าชิดชนกัน
  • เข่าติด จนงอและเหยียดขาไม่สุด
  • กระดูกสะบ้าติดแข็งจับเคลื่อนไปมาไม่ได้ เพราะเอ็นรอบกระดูกมีพังผืดยึด ซึ่งเกิดการบาดเจ็บ หรืออักเสบจากการใช้งาน
  • กล้ามเนื้อเข่า และสะโพกอ่อนแรง ฝ่อ ลีบ
  • เข่าหลวม จากเอ็นข้อต่อและกระดูกเสื่อมมาก
  • เดินขากางตัวโยกไปด้านข้าง เนื่องจากกล้ามเนื้อเข่าและสะโพกอ่อนแรง และเข่าหลวม


แนวทางการดูแลรักษา

ลดอาการปวดด้วยวิธีต่างๆ รวมทั้งแนะนำให้ผู้ป่วยทราบถึงการใช้เข่าที่ถูกต้อง

  1. ลดอาการปวด และเกร็งของกล้ามเนื้อรอบเข่า โดยใช้ความร้อนประคบ
  2. บริหารกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยลดแรงกระทำต่อข้อเข่า
  3. ใช้สนับเข่าในรายที่เข่าเสียความมั่นคง สนับเข่าจะช่วยให้ข้อเข่ากระชับ ลดอาการปวด แต่หากใช้เป็นเวลานานจะพบว่ากล้ามเนื้อรอบเข่าลีบจากการไม่ได้ใช้งาน จึงควรมีการบริหารข้อเข่าร่วมด้วยอย่างสม่ำเสมอ
  4. อริยาบทต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเสื่อมของข้อเข่าเร็วขึ้น ได้แก่ การนั่งพับเพียบ คุกเข่า ขัดสมาธิ นั่งยองๆ ควรหลีกเลี่ยง หรือปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตประจำวัน
  • ท่านั่ง ควรนั่งบนเก้าอี้สูงระดับเข่า เมื่อนั่งห้อยขาแล้วฝ่าเท้าจะวางราบกับพื้นพอดี ไม่ควรนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า นั่งยอง ๆ หรือนั่งราบบนพื้น เพราะจะทำให้ผิวข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
  • นอนบนเตียง  ที่ความสูงระดับเข่า เมื่อนั่งห้อยขาที่ขอบเตียงแล้วฝ่าเท้าจะแตะพื้นพอดี ไม่ควรนอนราบบนพื้น เพราะต้องงอเข่า เวลาจะนอนหรือจะลุกขึ้น ทำให้ผิวข้อเสียดสีกันมากขึ้น ข้อก็จะเสื่อมเร็วขึ้น
  • การยืน ควรยืนตรง ขากางออกเล็กน้อย ให้น้ำหนักตัวลงบนขาทั้งสองข้างเท่าๆ กัน ไม่ควรยืนเอียงลงน้ำหนักตัวบนขาข้างใดข้างหนึ่ง เพราะจะทำให้เข่าที่รับน้ำหนักมากกว่าเกิดอาการปวดได้
  • การเดิน ควรเดินบนพื้นราบ ไม่ควรเดินบนพื้นที่ไม่เสมอกัน เช่น บันได ทางลาดเอียงที่ชันมาก หรือทางเดินที่ขรุขระ เพราะทำให้น้ำหนักตัวลงไปที่เข่าเพิ่มมากขึ้น และอาจเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ง่าย ควรใส่รองเท้าส้นเตี้ย (สูงไม่เกิน 1 นิ้ว) หรือไม่มีส้นรองเท้า พื้นรองเท้านุ่มพอสมควร และมีขนาดกระชับพอดี
  1. ไม้เท้า จะช่วยแบ่งเบาแรงที่กระทำต่อข้อเข่าได้ และช่วยเพิ่มความมั่นคงในการยืน เดิน บางรายอาจใช้ร่ม โดยใช้จุกยางอุดปลายร่มเพื่อกันลื่น
  2. ลดน้ำหนัก เนื่องจากเวลายืน เดิน เข่าต้องรับน้ำหนัก 3-4 เท่าของน้ำหนักตัว ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก เข่ายิ่งต้องรับน้ำหนักมากกว่าปกติ การลดน้ำหนัก จะช่วยลดแรงกระทำต่อข้อเข่าได้มาก

อย่างไรก็ตาม การบรรเทาอาการที่ดีที่สุด คือ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนมากเกินไป ฝึกวินัยการรับประทานอาหาร ควรรับประทานอาหารให้เพียงพอทุกครั้งในมื้อเช้า ลดปริมาณลงมื้อกลางวัน และมื้อเย็นลดปริมาณให้น้อยที่สุด

การออกกำลังกายสำหรับผู้ที่ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม
  • การเดินเร็ว หรือขี่จักรยานอยู่กับที่ข้อมูลทางการแพทย์พบว่า การขี่จักรยานมีแรงกระทำน้อยกว่าการเดิน เพราะทำให้กล้ามเนื้อมีการเคลื่อนไหว และถูกใช้งานไปประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ข้อเข่าไม่สึกหรอ
  • ในรายที่ผ่าตัดข้อเข่าเทียม แนะนำให้เดินออกกำลังกายรวมถึงวิธีอื่นๆ ที่ไม่ต้องออกแรงมาก
  • การยืนแกว่งแขน มีผลทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น และกระดูกจะมีการพัฒนาควบคู่ไปด้วย
  • การว่ายน้ำ เป็นการออกกำลังกายที่ดี เพราะเข่าไม่ต้องรับน้ำหนัก แต่ผู้สูงอายุมักไม่ชอบ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ สถาบันกระดูกและข้อ