ถ่ายเป็นเลือด...อย่าละเลย อาจเสี่ยง “มะเร็งลำไส้ใหญ่”
โรงพยาบาลเปาโล
10-มี.ค.-2563
“ถ่ายเป็นเลือด” เมื่อมีอาการแบบนี้ แน่นอนว่าย่อมเกิดความผิดปกติในร่างกาย แต่บางคนยังชะล่าใจและคิดไปว่าคงเป็นแค่ผลกระทบทั่วไปจากอาการท้องผูก โดยลืมไปว่าจริงๆ แล้วอาการถ่ายเป็นเลือดนั้นเป็นสัญญาณเตือนของโรคที่หลากหลาย รวมไปถึงภัยเงียบที่น่ากลัวอย่าง “โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่” ดังนั้น หากมีอาการถ่ายเป็นเลือด ปวดท้องบ่อยๆ หรือมีปัญหาระบบขับถ่ายเรื้อรัง “การส่องกล้องลำไส้ใหญ่” ก็เป็นสิ่งสำคัญ!! ที่ไม่ควรมองข้าม

รู้ไหม? แม้ไม่ได้ถ่ายเป็นเลือด การตรวจ “ส่องกล้องลำไส้ใหญ่” ก็สำคัญ

แม้ว่า “ถ่ายเป็นเลือด” จะเป็นอาการที่แสดงถึงความผิดปกติบริเวณลำไส้ใหญ่ที่พบได้บ่อยๆ แต่นั่นก็ไม่ได้ชี้ชัดว่ามาจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เสมอไป อาจเป็นสัญญาณที่เกิดจากโรคริดสีดวงทวาร โรคเส้นเลือดของลำไส้ใหญ่ผิดปกติ มีติ่งเนื้องอกลำไส้ใหญ่ หรือลำไส้ใหญ่อักเสบ ได้เหมือนกัน รวมไปถึงในบางกรณี ผู้ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็ไม่ได้มาด้วยอาการถ่ายเป็นเลือด เพราะฉะนั้น เพื่อให้มั่นใจว่าอาการที่เป็นอยู่ไม่ได้เกิดจากโรคร้ายแรง การตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่จึงเป็นทางเดียวที่จะทำให้รู้ได้

แล้ว “ถ่ายเป็นเลือด” เป็นอาการเตือนของโรคใดได้บ้าง

    • โรคริดสีดวงทวาร
การถ่ายเป็นเลือดถือว่าเป็นอาการหลักของโรคริดสีดวงทวาร ซึ่งเกิดจากการออกแรงเบ่งอุจจาระจากการท้องผูก หรือท้องเสีย ทำให้เส้นเลือดดำที่ปลายทวารหนักบวมและไม่ยุบลงไป เกิดเป็นตุ่มริดสีดวง บางคนที่ริดสีดวงอักเสบมากๆ จนหลุดออกมาด้านนอกก็จะรู้สึกเจ็บเวลาเดินหรือนั่งอย่างมาก เมื่อเป็นริดสีดวงทวารเวลาขับถ่ายก็จะมีเลือดออกมาเป็นหยดหลังการถ่าย โดยผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเจ็บบริเวณทวารหนัก คันบริเวณก้น และขับถ่ายลำบากร่วมด้วย
    • โรคเส้นเลือดของลำไส้ใหญ่ผิดปกติ
เกิดจากเส้นเลือดเส้นเล็กๆ มีจำนวนมากขึ้นผิดปกติ ทำให้เวลาขับถ่ายมีเลือดออกมาด้วยทั้งแบบก้อนและแบบน้ำเลือด โดยไม่มีอาการปวดท้อง โรคนี้มักพบในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 70 ปี ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคนี้บางคนเลือดจะหยุดได้เอง แต่ก็ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจ
    • ติ่งเนื้องอกลำไส้ใหญ่
เป็นเนื้องอกที่เกิดจากกรรมพันธุ์ผิดปกติ มักพบในผู้ชายมากกว่าเพศหญิงที่อายุมากกว่า 50 ปี สามารถพัฒนาเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยผู้ป่วยไม่มีอาการแสดงให้เห็น แต่บางครั้งจะมีเลือดออกในลำไส้ใหญ่ ทำให้มีเลือดเคลือบผิวอุจจาระที่ขับถ่ายออกมา ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นๆ หายๆ โดยแพทย์จะแนะนำให้คนที่อายุมากกว่า 50 ปีตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจหาติ่งเนื้อที่อาจเกิดขึ้น
    • ลำไส้ใหญ่อักเสบ
เกิดจากโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น โรคบิดทั้งมีตัวและไม่มีตัว อาการหลักๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อ คือ มักถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายบ่อยๆ มีไข้ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ถ่ายเป็นมูกร่วมกับมีเลือด หรือถ่ายเป็นเลือด
    • มะเร็งลำไส้ใหญ่
เป็นมะเร็งที่พบบ่อยทั้งในไทยและทั่วโลก ส่วนใหญ่พบในคนที่อายุมากกว่า 50 ปี ซึ่งนอกจากผู้ป่วยจะมีอาการอุจจาระมีเลือดปนแล้ว ลักษณะของการขับถ่ายที่เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว หรือท้องผูก หรือท้องผูกสลับกับท้องเสีย รวมไปถึงอุจจาระลำเล็กลง ลีบลงจากเดิม หรือในบางรายอาจมาด้วยอาการปวดท้องรุนแรงโดยไม่ได้ถ่ายเป็นเลือด เนื่องจากเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นตรงบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนต้น มะเร็งชนิดนี้มักรักษาไม่หายขาด ต้องใช้การส่องกล้องหรือวิธีอื่นเพื่อตรวจหาโรค และตัดเนื้อร้ายออกเพื่อป้องกันการลุกลามของโรค

ใครบ้างที่ควรตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่...แม้จะไม่มีอาการ!

สำหรับคนที่ไม่ได้มีอาการข้างต้น แต่อยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป รวมทั้งผู้ที่มีพฤติกรรมชอบกินเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อแดง กินอาหารไขมันสูง ไม่ค่อยกินผักผลไม้ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่จัด หรือผู้ที่มีอาการลำไส้อักเสบเรื้อรังมานาน

ก่อนส่องกล้องลำไส้ใหญ่...ควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

  • เลือกทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย ประมาณ 3 วันก่อนเข้ารับการตรวจ
  • งดทานผัก ผลไม้ หรืออาหารที่มีเส้นใย
  • ทานยาระบาย ให้ตรงตามคำแนะนำของแพทย์
  • งดทานอาหารและเครื่องดื่ม ภายใน 8-10 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการส่องกล้อง
  • ควรมีญาติหรือคนดูแลมาด้วย (เพราะบางกรณีแพทย์อาจมีการใช้ยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำ)

หลังตรวจส่องกล้อง...หากมีสัญญาณเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์

  • อุจจาระมีเลือดปนออกมามากผิดปกติ
  • ปวดท้องมาก ท้องแข็ง
  • มีไข้สูง
เพราะความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ใหญ่นั้นสามารถสันนิษฐานได้หลายโรค ดังนั้น การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ จึงเป็นวิธีการค้นหาสาเหตุของความผิดปกติที่ไม่ควรมองข้างม เพื่อนำไปสู่การพบโรคและการรักษาที่ตรงกับอาการของผู้ป่วยจริงๆ