RSV ไวรัสตัวร้าย ของเจ้าตัวเล็ก
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
21-ต.ค.-2565
ตอนนี้ “โรค RSV” ระบาดหนักในช่วงปลายฝนต้นหนาว ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงควรระวังเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ที่มีภูมิต้านทานต่ำ โรคนี้จะอันตรายกว่าไข้หวัดธรรมดาอย่างไร ไขข้อข้องใจโดย พ.อ.นพ.บวร แมลงภู่ทอง กุมารแพทย์ ศูนย์กุมารเวช รพ.เปาโล โชคชัย 4

ไวรัส RSV คืออะไร ?
RSV คือ ไวรัสชนิดหนึ่ง ( Respiratory Syncytial Virus ) ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจที่สำคัญในเด็ก ประมาณร้อยละ 40-75 ของโรคหลอดลมส่วนปลายอักเสบที่รับการรักษาและร้อยละ 15-40 ของโรคปอดอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อ RSV ซึ่งสามารถก่อโรคได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิด จนถึงผู้ใหญ่ แต่จะอาการหนักในเด็กเล็ก เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีโรคหัวใจหรือปอด สามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

สาเหตุและการติดเชื้อ ไวรัส RSV เกิดจากอะไร
เกิดจากการติดต่อเชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายจากคนสู่คน โดยผ่านทางฝอยละอองขนาดใหญ่ (droplet), ผ่านทางการสัมผัส (contact) หรือผ่านทางไรฝุ่น โดยเชื้อไวรัสจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานประมาณ 24 ชั่วโมง การติดต่อมักเกิดจากการสัมผัสจากมือไปที่ตาหรือจมูก ผู้ที่ติดเชื้อ RSV จะมีการปล่อยเชื้อไวรัสออกมาจากสารคัดหลั่ง ประมาณสองสัปดาห์ ผู้ที่ได้รับเชื้อ RSV เข้าสู่ร่างกายมักจะมีระยะฟักตัว 3-5วัน ก่อนเริ่มแสดงอาการของระบบทางเดินหายใจ

อาการของโรค RSV
มีความแตกต่างกันไปตามวัย ทารกคลอดก่อนกำหนดและทารกในช่วงเดือนแรก จะมีอาการดูดนมน้อยลง ซึมลง บางครั้งอาจมีอาการคล้ายติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ทารกช่วงสองขวบปีแรก มักเริ่มจากอาการไข้ต่ำๆ น้ำมูก จาม นำมาก่อน 1-3 วัน ต่อมาเริ่มมีอาการไอ หายใจเร็วขึ้น หายใจลำบาก อาจได้ยินเสียงหวีด (wheezing) หากลุกลามจะเกิดปอดอักเสบ เด็กอายุ 2-5 ปี นอกจากอาการดังกล่าวข้างต้น อาจเกิดกลุ่มอาการ Croupได้

ไวรัส RSV กับ Covid-19 ไวรัสตัวไหนอันตรายกว่ากัน
เป็นไวรัสที่อันตรายทั้ง 2 ชนิด แต่ RSV จะก่อให้เกิดความรุนแรงในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ส่วน COVID มักจะรุนแรงในผู้ใหญ่

วิธีการป้องกันจากเชื้อไวรัส RSV
1.ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่และน้ำสะอาด สอนให้เด็กล้างมือให้ถูกต้อง
2.ไม่ใช้แก้วน้ำหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย โดยเฉพาะการติดต่อกันในครอบครัวจากเด็กก่อนวัยเรียน
4.หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น เช่น ห้างสรรพสินค้า ไม่ควรพาเด็กไปเล่นในที่ที่มีเด็กเล่นอยู่ด้วยกันจำนวนมาก
5.ผู้ที่ป่วยควรงดการออกนอกบ้านในช่วงที่ไม่สบาย เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ และควรปิดปากจมูกเวลาไอจาม
6.ทำความสะอาดบ้าน รวมทั้งของเล่นเด็กเป็นประจำ

อย่างไรหากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอมากกว่าปกติ รู้สึกหอบเหนื่อย ควรรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อป้องกันและทำการรักษาได้ทันถ่วงที



ข้อมูลโดย

พ.อ.นพ.บวร แมลงภู่ทอง
กุมารแพทย์ ศูนย์กุมารเวช รพ.เปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 3220-3221