โรคมือ เท้า ปากในเด็ก...โรคระบาดที่คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวัง
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
25-ม.ค.-2566

โรคมือ เท้า ปากในเด็ก...โรคระบาดที่คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวัง

โรคมือ เท้า ปาก เป็นอีกหนึ่งโรคที่สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อย เนื่องจากมักพบบ่อยในเด็กเล็กเพราะติดต่อกันได้ง่าย โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันมากๆ อย่างสถานรับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอนุบาล ทั้งโรคมือเท้าปากนี้ หากเกิดในเด็กเล็กก็มักมีอาการรุนแรงกว่าเกิดในเด็กโตหรือในผู้ใหญ่อีกด้วย

 


อาการของโรคมือ เท้า ปาก ต้องสังเกตอย่างไร?

เมื่อเกิดการติดเชื้อโรคมือ เท้า ปาก อาการเริ่มแรกคือการมีไข้ 1-2 วัน และเริ่มมีแผลเกิดขึ้นที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก จึงทำให้เด็กรู้สึกเจ็บปากและรับประทานอาหารได้น้อยลง จากนั้นจะมีผื่นเป็นจุดแดงหรือตุ่มน้ำใสขึ้นตามบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รอบก้นและอวัยวะเพศ บางรายอาจขึ้นบริเวณตามลำตัว แขนและขาได้

อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นใน 2-3 วันแรก จากนั้นจะค่อยๆ ดีขึ้นใน 1 สัปดาห์ หากเกิดขึ้นในเด็กอาจเกิดภาวะขาดน้ำจากการทานอาหารและน้ำได้น้อยลง เนื่องจากเจ็บแผลในช่องปาก

 

การติดต่อของโรคมือ เท้า ปาก

โรคมือ เท้า ปากสามารถแพร่ผ่านการสัมผัสโดยตรง จากการสัมผัสน้ำลาย น้ำมูก เสมหะ ผื่นหรือตุ่มบริเวณผิวหนัง หรืออุจจาระของผู้ป่วย และแพร่ผ่านการสัมผัสทางอ้อมจากการสัมผัสผ่านสิ่งของหรือภาชนะต่างๆ น้ำหรืออาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อ และมือของผู้เลี้ยงดูหรืออยู่ใกล้ชิดเด็กๆ โดยผู้ป่วยมักมีอาการหลังจากที่สัมผัสถูกเชื้อโรคประมาณ 1 สัปดาห์ ทั้งยังสามารถติดต่อกันได้แม้ผู้ป่วยยังไม่มีอาการแสดงออกด้วย

 


สัญญาณเตือนอันตรายร้ายแรงจากโรคมือ เท้า ปาก

แม้ส่วนใหญ่อาการของโรคมือ เท้า ปากจะไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่โรคนี้ก็สามารถพบภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ โดยเด็กจะมีอาการมีไข้สูงนานเกิน 2 วัน ปวดศีรษะ ซึม อ่อนแรง มือสั่น เดินเซ หายใจเร็วผิดปกติ หอบเหนื่อย หรือชัก อาการเหล่านี้จะเป็นภาวะแทรกซ้อนทางสมองและภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ก้านสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ภาวะหัวใจวาย หรือน้ำท่วมปอด อาการเช่นนี้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเมื่อสงสัยว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนควรรีบพาเด็กมาพบแพทย์โดยด่วน

 

การรักษา

ปัจจุบันโรคมือ เท้า ปากยังไม่มียารักษาจำเพาะ แต่จะรักษาตามอาการแบบที่เรียกว่าประคับประคอง เพราะโรคจะหายเองได้ถ้าไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง การรักษาก็เช่น ให้กินยาลดไข้ ใช้ยาทาบริเวณแผลในปากเพื่อบรรเทาอาการเจ็บ รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ดูแลสุขอนามัยในช่องปาก รับประทานอาหารที่มีรสอ่อน กินง่าย กลืนง่าย หรือดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ

อย่างไรก็ตาม หากเด็กมีอาการรุนแรงหรือสงสัยว่ามีภาวะแทรกซ้อน จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด


ปฏิบัติตัวอย่างไรให้ไกลโรคมือ เท้า ปาก

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปากแล้ว แต่เป็นวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้ออีวี 71 (Enterovirus 71) เท่านั้น ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุด คือการปฏิบัติตามแนวทางการรักษาสุขอนามัย ดังนี้

  1. กินอาหารปรุงสุกใหม่
  2. หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อยๆ เนื่องจากโรคมือ เท้า ปากไม่สามารถฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ได้
  3. ไม่ใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
  4. หมั่นทำความสะอาดของเล่นอย่างสม่ำเสมอ
  5. ควรแยกของใช้หรือภาชนะของเด็กที่เป็นโรคจากเด็กคนอื่น
  6. ควรงดพาเด็กไปในสถานที่แออัด หรือพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อโรค
  7. เมื่อพบว่าเด็กเป็นโรค ควรแยกเด็กออกจากผู้อื่น และให้หยุดเรียนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าตุ่มตามร่างกายจะหายดี

 

แม้โรคมือ เท้า ปากจะสามารถหายเองได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ยังควรเฝ้าระวังและหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยอยู่เป็นประจำ หากสงสัยหรือเห็นว่ามีสัญญาณอันตรายของภาวะแทรกซ้อน ควรรีบพาเด็กมาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี จะเป็นป้องกันความเสี่ยงภาวะอันตรายที่อาจเกิดกับเด็กได้

บทความโดย

แพทย์หญิงกมลลักษณ์ อนันต์นิธิวุฒิ

แพทย์ประจำสาขากุมารเวชทั่วไป

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ


สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

แผนก กุมารเวชกรรม อาคาร 1 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2209-2210
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn