เลี้ยงลูกยุค Social
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
20-ต.ค.-2565
title “พ่อแม่ในยุคปัจจุบัน” คงไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่าโทรศัพท์มือถือ แท็ปแลต นั้นเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเด็กๆ เป็นอย่างมาก และเทคโนโลยีเหล่านี้กลายเป็นดาบ 2 คม

ในความรู้สึกของคุณพ่อ คุณแม่ด้วยเช่นเดียวกัน นพ.รัตนภูมิ วัฒนปัญญาสกุล กุมารแพทย์ เฉพาะทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่น จะมาช่วยตอบคำถามที่คุณพ่อคุณแม่อยากรู้

Q: เด็กๆ สามารถเล่นเกม ดูสื่ออินเตอร์เน็ตที่เหมาะสมได้หรือไม่ นพ.รัตนภูมิ :  สำหรับในเรื่องนี้ก่อนที่เราจะมาคุยกันว่าเล่นได้หรือไม่ และเล่นแล้วจะมีผลเช่นไร
หมอขอแบ่งเด็กเป็น 2 กลุ่มคือ

(1) กลุ่มที่ห้ามเล่นอย่างเด็ดขาด ได้แก่ เด็กก่อนวัย 2 ขวบ เนื่องจากมีรายงานวิจัยที่ชี้ชัดว่า เด็กกลุ่มนี้ไม่ควรดูโทรทัศน์ มือถือ แท็ปเลต เพราะจะส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการช้าในด้านใดด้านหนึ่ง อาทิ พัฒนาการด้านการพูดหรือพัฒนาการทางสังคมเป็นต้น

(2) กลุ่มที่เล่นได้แต่ต้องมีขอบเขตเวลาที่ชัดเจน และต้องเล่นหลังจากทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันเรียบร้อยแล้ว อาทิ ทำการบ้าน ทำงานบ้าน อาบน้ำ รับประทานข้าว

ซึ่งระยะเวลาที่เด็กสามารถเล่นเกม ดูกิจกรรมต่างๆ เพื่อความบันเทิง (ไม่รวมเพื่อการศึกษา)ในวันจันทร์-ศุกร์ ที่ไปโรงเรียนไม่ควรเกิน 1 ชม.และวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ ไม่ควรเกิน 2 ชม.

หลายครั้งเทคโนโลยีกลายเป็นเครื่องผ่อนแรงของพ่อแม่ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องรอคอย เช่น การรอคิว รอญาติ เดินเลือกซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า พ่อแม่มักจะให้เด็กเล่นมือถือเพื่อไม่ให้ซน นั่งได้นาน หมอต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพราะเด็กจะไม่รู้จักอดทน และรอคอย

ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของเด็กยุคนี้และยังส่งผลกระทบในหลายด้าน เช่น ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ เอาแต่ใจ เพราะฉะนั้นจึงควรให้เด็กได้เรียนรู้ชีวิตจริง รู้จักการรอคอย และไม่เล่นมือถือแท็ปเล็ตในช่วงที่ต้องรอ


Q: เมื่อเด็กเล่นเกมจะนิ่ง แสดงว่ามีสมาธิใช่หรือไม่? 
นพ.รัตนภูมิ : คำตอบคือ ไม่ใช่ครับเพราะการที่จะเรียกว่าสมาธิ โดยทั่วไปแล้วคือ สิ่งเร้าจะต้องไม่เปลี่ยนความสนใจในสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เช่น เด็กสนใจภาพบนกระดาษตรงหน้า จึงเรียกว่ามีสมาธิ

แต่สำหรับเกมบนมือถือ สิ่งเร้าซึ่งก็คือภาพบนจอเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและรวดเร็ว จึงเป็นเพียงแค่การสนใจไม่ใช่สมาธิ และด้วยภาพที่เคลื่อนไหวเร็ว ๆ ตลอดเวลายังเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เด็กสมาธิสั้น ส่งเสริมให้เด็กตัดขาดจากสังคม หรือแม้แต่ส่งเสริมให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเด็กมีปัจจัยเสี่ยงกับสิ่งใด เช่น มีปัญหาครอบครัวอยู่แล้ว และเมื่อติดเกมย่อมส่งเสริมให้เกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นได้

Q: สามารถดูแลไม่ให้เด็กติดเกมได้อย่างไร นพ.รัตนภูมิ : ถึงแม้ยุคนี้เทคโนโลยีจะมีความจำเป็นแต่ก็ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม เพราะด้วยหน้าที่ในการดูแลรักษาเด็กๆ จึงทำให้หมอเห็นปัญหาของหลายๆ ครอบครัวที่เด็กติดเกมหรือสื่ออินเตอร์เน็ตต่างๆ ส่วนใหญ่ปัญหาที่พบ ได้แก่ สมาธิสั้น เด็กเอาแต่ใจตัวเองควบคุมตัวเองไม่ได้ และออทิสติกเทียม

ดังนั้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้เด็กเกิดปัญหาในในอนาคต สามารถแก้ได้ด้วยวิธีง่าย ๆ เพียงให้เวลาทำกิจกรรมกับเด็ก เนื่องจากส่วนใหญ่เด็กติดเกมเพราะไม่มีกิจกรรมอื่นให้ทำ

ดังนั้นถ้าครอบครัวมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน และจัดตารางการรับสื่อของเด็กอย่างชัดเจน ปัญหา “เด็กติดเกม” ย่อมจะหมดไปอย่างแน่นอน

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

กุมารเเพทย์ ศูนย์กุมารเวช  
อาคาร 3 ชั้น 2 โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4

โทร.02-514-4141 ต่อ 3320-3221
Line id : @Paolochokchai4