ภาวะติดเชื้อในทารก…ใกล้ตัวกว่าที่คิด
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
21-ต.ค.-2565
“ทารกแรกคลอด” ไปจนถึง 1 ขวบ เป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ เพราะภูมิคุ้มกันยังต่ำมาก เสี่ยงต่อการติดโรคต่างๆจากไวรัส แบคทีเรีย ไปจนถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอันตรายมากและ มีโอกาสที่จะทำให้ลูกพิการ หรือเสียชีวิตได้ หากพามาหาหมอไม่ทัน คุณพ่อคุณแม่จึงต้องตื่นตัวคอยสังเกตอาการ รวมถึงป้องกันลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้ลูกติดเชื้อให้มากที่สุด


อาการของการติดเชื้อในกระแสเลือด 
อาการของเด็กทารกที่ติดเชื้อในกระแสเลือดจะค่อนข้างหลากหลาย มีตั้งแต่ไข้สูง ตัวเย็น เซื่องซึม เบื่ออาหาร หอบเหนื่อย และอาเจียน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่นๆ หรือการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อลูกน้อยมีอาการข้างต้น คุณพ่อคุณแม่อย่าวินิจฉัยและรักษาด้วยตัวเอง ควรพามาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการป่วย

หากลูกเกิดการติดเชื้อ…นี่คือสิ่งที่ต้องทำ 
หลังจากวินิจฉัยแล้ว คุณหมอจะให้ยาฆ่าเชื้อเพื่อลดภาวะแทรกซ้อน ก่อนจะเพาะเชื้อในเลือดหาชนิดของแบคทีเรีย เพื่อให้ยารักษาอย่างเฉพาะเจาะจง และทานยาตามคุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัดต่อเนื่องประมาณ 2 สัปดาห์

ป้องกันไว้ก่อน… ปลอดภัยกว่าเสมอ
ในบางครั้งถึงจะรักษาหายแล้ว แต่อาจจะยังมีอาการต่อ เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ซึ่งหนทางที่ดีที่สุดในการดูแลลูกของเราคือการป้องกัน ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
1.ดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ให้ดีที่สุด : โดยการไปตามนัดฝากครรภ์สม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ หากรู้สึกผิดปกติให้รีบไปพบณหมอทันที เพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด ที่สามารถเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อจากลูกสู่แม่ได้
2. ให้ลูกทานนมแม่ให้นานที่สุด : คุณแม่ควรให้ลูกทานนมต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ
3. ดูแลความสะอาดอยู่เสมอ : ภาชนะที่ใช้ต้องลวกนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อ ของเล่นต้องทำความสะอาด หมอนผ้าปูหมั่นซักเป็นประจำ
4. หลีกเลี่ยงแหล่งชุมชน : อย่าเพิ่งรีบพาลูกออกไปในที่สาธารณะ หรือที่ชุมชนคนเยอะๆ เพราะเป็นสภาพแวดล้อมที่มีเชื้อโรคอยู่มาก
5. เช็คความสะอาดของพ่อแม่ และผู้ที่มาเยี่ยม : ล้างมือให้สะอาดก่อนอุ้มทารกทุกครั้ง คุณพ่อคุณแม่อาจจะวางเจลแอลกอฮอล์ล้างมือไว้ใกล้ตัวเลยก็ได้
6. ถ้าไม่สบาย ให้กันตัวห่างจากเด็ก : เมื่อคนในบ้านไม่สบายให้กันโซนพื้นที่ นอนแยกห้อง และให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัส กับทารกเพราะผู้ใหญ่บางคนอาจเป็นพาหะนำเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในโพรงจมูก เมื่อหอมแก้มลูกน้อยอาจทำให้ติดเชื้อได้
7. อย่าลืมพาเจ้าตัวน้อยไปฉีดวัคซีน : เพราะวัคซีนพื้นฐาน และวัคซีนเสริม มีส่วนช่วยป้องกันแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ เช่น วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-โปลิโอ-ฮิบ และวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไอพีดี


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

กุมารเเพทย์ ศูนย์กุมารเวช  
อาคาร 3 ชั้น 2 โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4

โทร.02-514-4141 ต่อ 3320-3221
Line id : @Paolochokchai4