แผลในกระเพาะอาหาร...โรคสุดทรมานที่รักษาได้
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
07-ก.พ.-2566
หิวก็ปวด อิ่มมากก็ปวด ตอนกลางดึกก็ปวด เวลาเครียดๆ ยิ่งปวดเลย โรคกระเพาะอาหาร  โรคฮิตสุดทรมานโรคหนึ่งของคนทำงาน และเมื่อปล่อยให้เป็นเรื้อรังไม่รักษาหรือปรับนิสัย แน่นอนว่าต้องเกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหารตามมาในเร็ววัน

สาเหตุเกิดจากอะไร

แผลที่เกิดในกระเพาะอาหารเกิดจากเยื่อบุเมือกในผนังกระเพาะอาหารถูกทำลายโดยกรดและน้ำย่อยที่หลั่งออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารไม่ตรงเวลา กินอาหารรสจัด การกินยาบางกลุ่มที่กระตุ้นการสร้างกรด เช่น กลุ่มแอสไพริน หรือยารักษากระดูกและข้ออักเสบบางชนิด แม้แต่การสูบบุหรี่ก็เป็นสาเหตุของการหลั่งกรดในกระเพาะได้ หรืออีกสาเหตุการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร คือ การมีเชื้อแบคทีเรีย เอช ไพโลไร ในกระเพาะอาหาร ซึ่งติดจากการดื่มน้ำหรือทานอาหารที่มีเชื้อนี้เข้าไป


อาการของการมีแผลในกระเพาะอาหาร

•  ปวดแสบท้องบริเวณลิ้นปี่ มักจะปวดเวลาหิวหรือท้องว่าง
• อาการปวดจะดีขึ้นเมื่อทานอาหารเข้าไป แต่ก็มักจะทานได้นิดเดียวก็รู้สึกอิ่มจุกแน่นท้อง
• อาการปวดทุเลาเมื่อกินยาลดกรด หรือดื่มนม
• เมื่อกินอาหารรสจัด เผ็ด เปรี้ยวจะมีอาการปวดแสบท้องทันที
• แน่นท้อง ท้องอืดบ่อย มีลมในกระเพาะอาหารมาก บางครั้งรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน
• มีอาการปวดท้องกลางดึกบ่อยๆ

อาการรุนแรงที่อันตราย ควรพบแพทย์ด่วน

•  หากมีการถ่ายเป็นเลือดเหลวสีเข้ม หรือดำ หรืออาเจียนเป็นเลือด อาจเข้าข่ายเลือดออกในกระเพาะอาหาร
• หากมีอาการปวดท้องรุนแรงขึ้นมาเฉียบพลัน อาจปวดร้าวไปที่สะบัก หน้าท้องแข็งและเจ็บ อาจเกิดการกระเพาะทะลุได้

รักษาได้แต่ต้องปรับพฤติกรรมด้วย
การรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร ต้องตรวจหาสาเหตุของโรคก่อนว่าเกิดจากมีเชื้อแบคทีเรีย เอช ไพโลไร หรือไม่ หากมีเชื้อแบคทีเรีย จะต้องทานยาฆ่าเชื้อเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในกระเพาะอาหารนี้ให้หมดสิ้น และแพทย์จะให้ยาต้านการหลั่งกรด และยารักษาแผลในกระเพาะอาหารนี้ ซึ่งต้องกินติดต่อกันอย่างน้อย 4 – 8 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้


ทั้งนั้น ผู้ป่วยต้องปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิต กินอาหารที่เหมาะสม คือกินอาหารอ่อน ย่อยง่าย งดอาหารรสจัด งดดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่ ไม่เครียด อาการของแผลในกระเพาะจึงจะรักษาหายได้ ด้วยการดูแลตนเองที่ดี



สอบถามรายละเอียด
ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ อาคาร 1 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4 
โทร.02-514-4141 ต่อ 1210 – 1211