หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภัยร้ายเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลว
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
19-พ.ค.-2566

“หัวใจเต้นผิดจังหวะ” เป็นโรคที่พบบ่อยในปัจจุบัน และเรามักได้ยินข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจากการมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตของคนในวัยหนุ่มสาวที่คาดไม่ถึง



เพราะเหตุใดหัวใจจึงทำงานผิดปกติ?

ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตที่มีความเครียดสะสม การดื่มชาหรือกาแฟมากเกินไป รวมถึงการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ และอีกหลายปัจจัย ก็อาจส่งผลให้เกิด “การทำงานของหัวใจผิดปกติ” ได้ เเต่หากเราได้รับการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกัน โอกาสที่จะหายหรือปลอดภัยจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน หรือ “ภาวะหัวใจล้มเหลว” ก็ย่อมมีมากขึ้น ดังนั้น จึงอยากให้ทุกคนได้หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพหัวใจให้มากขึ้น


หัวใจเต้นผิดจังหวะอันตรายถึงชีวิตหรือไม่?

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นอาการที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ อาจเร็วไปหรือช้าไป ไม่สม่ำเสมอ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับหัวใจห้องบนและหัวใจห้องล่าง และกับทุกเพศทุกวัย ทั้งผู้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่เดิม หรือผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคหัวใจมาก่อน โดยที่ตำแหน่งของการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะจะเป็นจุดที่หัวใจเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายมีความผิดปกติ จนเกิดภาวะเลือดตกค้างหรือมีลิ่มเลือดในหัวใจ โดยลิ่มเลือดนี้หากหลุดไปที่สมองก็จะเพิ่มโอกาสในการเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตหรือเสียชีวิตจากอาการสมองขาดเลือด  รวมถึงอาจทำให้หัวใจล้มเหลวได้


เช็กอาการเตือน หัวใจเต้นผิดจังหวะ

ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ จะมีอาการที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับประเภท ความรุนแรง หรือความผิดปกติในการเต้นของหัวใจ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะไม่รู้ว่าตัวเองมีปัญหานี้อยู่ การรู้จักวิธีสังเกตและเข้ารับการตรวจ หรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จะช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคร้ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ เช่น

  • ในกรณีหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ เช่น เต้นบ้าง หยุดบ้าง หรือเต้นเร็วสลับเต้นช้า จะให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ และมักทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา
  • ในกรณีหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ เร็วกว่า 100 ครั้งต่อนาที จะมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วหรือแรง แน่นหน้าอก และเสี่ยงทำให้หัวใจล้มเหลว และอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • ในกรณีที่หัวใจเต้นช้าผิดปกติ น้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที จะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ส่งผลให้มีอาการหน้ามืด วิงเวียนศรีษะ ใจสั่น วูบ เป็นลม และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้


สาเหตุของการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ต้องรู้
1. โรคบางชนิด ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเส้นเลือดสูง โรคเบาหวาน และผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ 2. ความเครียด ความวิตกกังวลที่มากเกินไป โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง 3. การรับประทานอาหารบางอย่าง ที่มีผลต่อการทำงานของหัวใจ เช่น การดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มชูกำลัง หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการสูบบุหรี่ 4. ระบบอื่นๆ ภายในร่ายกายทำงานผิดปกติ ทำให้มีผลต่อการทำงานของหัวใจ เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ อิเล็กโทรไลต์ที่ใช้นำกระแสไฟฟ้าในร่างกายผิดปกติ 5. หัวใจผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เกิดจากความผิดปกติของการพัฒนาการของหัวใจของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา หรือเพียงไม่นานหลังคลอด


การตรวจวินิจฉัย หัวใจเต้นผิดจังหวะ
1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เป็นการตรวจความสมบูรณ์ในการทำงานของระบบไฟฟ้าหัวใจ เพื่อหาความผิดปกติของอัตราการเต้นของหัวใจ หรือจังหวะการเต้นของหัวใจที่อาจจะเกิดขึ้นหรือได้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งอาจจำเป็นต้องตรวจโรค อาการ หรือภาวะอื่นๆ ที่มีผลต่อหัวใจร่วมด้วย เพื่อเป็นการประเมินว่าหัวใจยังแข็งแรงปกติดีหรือไม่ 2. การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกายด้วยการเดินบนสายพานหรือปั่นจักรยาน วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ตรวจพบการตอบสนองที่ผิดปกติเมื่อต้องออกแรง เช่น อาการหายใจลำบาก อาการเจ็บแน่นหน้าอก การเต้นของหัวใจผิดปกติ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ไม่ปกติ 3. การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (ECHO) เป็นการตรวจด้วยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงซึ่งมีความปลอดภัยเข้าไปในทรวงอก แล้วรับเสียงที่สะท้อนออกมาไปแปลเป็นภาพให้เห็นบนจอ เพื่อวัดประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจว่ายังปกติดีอยู่หรือไม่ ทั้งยังสามารถเห็นการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ขนาดของห้องหัวใจ การไหลเวียนเลือดในหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ และตำแหน่งของหลอดเลือดต่างๆ ที่เข้าและออกจากหัวใจได้อีกด้วย

การรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ
หัวใจเต้นผิดจังหวะจะรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้าหัวใจ ใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ หรือรักษาด้วยการใช้ยา เพื่อควบคุมไม่ให้หัวใจเต้นเร็วเกินไปจนผิดจังหวะ ซึ่งบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือดร่วมด้วย ทั้งนี้จะรักษาตามอาการของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น ในการรักษา ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ความเครียด ยาบางชนิด กาแฟ เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เราทุกคนควรดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง ด้วยการเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นเข้ารับการตรวจสุขภาพหัวใจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจประเมินความเสี่ยงของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือโรคหัวใจอื่นๆ ที่อาจมีแฝงอยู่ เพราะการพบความผิดปกติได้เร็วหรือในขณะที่อาการยังไม่รุนแรง การรักษาก็จะง่ายและมักได้ผลดีกว่า อีกทั้งยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาอีกด้วย



ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

ศูนย์หัวใจ อาคาร 5 ชั้น 2

โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร. 02-514-4141 ต่อ 5204