รู้ไหม? ตรวจภายใน...ไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการผิดปกติ
โรงพยาบาลเปาโล
17-พ.ย.-2565

“ตรวจภายใน” แม้จะเป็นคำที่ผู้หญิงส่วนใหญ่รู้จักดี แต่หลายคนก็ยังลังเลที่จะเข้ารับการตรวจ เพราะอาจจะรู้สึกเขินอาย หรือคิดว่าเมื่อไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว! การตรวจภายในควรตรวจทั้งเพื่อการคัดกรอง ป้องกัน และหารอยโรคจากอาการต่างๆ ซึ่งระบบสืบพันธุ์สตรีภายในบริเวณอุ้งเชิงกราน ไม่ว่าจะเป็นช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก ท่อนำรังไข่ รังไข่ เป็นอวัยวะที่พบโรคได้บ่อย และการพบโรคเร็วก็เป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้ดีกว่าการปล่อยให้โรคลุกลามจนรักษายาก

ทำไมต้องตรวจภายใน?

การตรวจภายในเป็นได้ทั้งการตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจเมื่อผู้ป่วยรู้สึกว่ามีความผิดปกติและเข้ามาพบแพทย์ โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ เพื่อประเมินอาการและวินิจฉัยว่าจำเป็นต้องตรวจภายในหรือไม่ แต่โดยทั่วไปแล้วการตรวจภายในมักจะเป็นการตรวจเพื่อ..

  • ตรวจเพื่อคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก (แปปสเมียร์-Pap Smear)

  • ตรวจหาการติดเชื้อในช่องคลอด เช่น การติดเชื้อรา หรือแบคทีเรีย

  • ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม โรคเริม โรคพยาธิในช่องคลอดจากการติดเชื้อ หรือโรคติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV)

  • ตรวจและหาสาเหตุของภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก ตกขาวผิดปกติ เนื้องอกมดลูก เนื้องอกรังไข่ ภาวะมดลูกหย่อน อาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือบริเวณหลัง

  • ตรวจก่อนการคุมกำเนิด เพื่อดูว่าอุปกรณ์ที่จะใช้มีความเหมาะสม เช่น การใส่ห่วงอนามัย

  • ตรวจเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ เพื่อประเมินความสมบูรณ์พร้อม หาความเสี่ยง และป้องกันโรคที่เกี่ยวข้อง


ใครบ้างที่ควรตรวจภายใน

โดยปกติแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไปทำการตรวจภายในปีละ 1 ครั้ง ยกเว้นกรณีที่มีความเสี่ยงหรือมีปัญหาสุขภาพรายบุคคลอาจต้องตรวจถี่ขึ้นเพื่อติดตามผลและป้องกันความเสี่ยง ทั้งนี้ผู้หญิงที่ไม่มีเพศสัมพันธ์หรือหญิงโสด ถ้าประจำเดือนมาตามปกติ ไม่มีอาการอื่นๆ ที่น่าสงสัย ควรตรวจหาความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป สำหรับสตรีทุกช่วงอายุที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับอุ้งเชิงกรานและอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น

  • มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจำเดือน

  • ปวดท้องน้อย

  • ปวดประจำเดือนมากผิดปกติ

  • ตกขาวผิดปกติ

  • สงสัยว่ามีก้อนหรือคลำพบก้อนที่ท้องน้อย

  • ช่องคลอดมีกลิ่น

  • มีแผลบริเวณอวัยวะเพศ

ควรเขาพบสูตินรีแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา ซึ่งโดยปกติแล้วแพทย์จะทำการซักประวัติ และตรวจเบื้องต้นเพื่อประเมินว่าจำเป็นต้องตรวจภายในหรือไม่ เพราะในบางรายก็ไม่จำเป็นต้องตรวจภายใน


การเตรียมตัวก่อนตรวจภายใน

  • ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้ยารักษาภาวะช่องคลอดแห้งหรือยาเหน็บ อย่างน้อย 2 วัน หรือ 48 ชม. ก่อนรับการตรวจ

  • หลีกเลี่ยงเข้ารับการตรวจในช่วงที่มีประจำเดือน โดยควรตรวจหลังจากประจำเดือนหมดสนิท หรือก่อนมีประจำเดือนรอบถัดไปประมาณ 1 สัปดาห์ ในสตรีวัยหมดประจำเดือน หรือสตรีที่ฉีดยาคุมกำเนิดจะไม่มีประจำเดือน สามารถตรวจได้เลย

  • ควรปัสสาวะออกให้หมดก่อน แพทย์จะได้คลำขนาดมดลูกและปีกมดลูกให้ชัดเจน

  • ไม่จำเป็นต้องงดอาหารและน้ำดื่ม

  • ในการวินิจฉัยบางโรค เช่น เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ อาจมีการตรวจทางทวารหนักร่วมด้วย กรณีนี้ควรถ่ายอุจจาระก่อนเข้าตรวจ

  • ทำจิตใจให้สบาย ไม่ต้องกังวล ขณะทำการตรวจด้วยการสอดเครื่องมือเล็กๆ หรือการคลำของแพทย์ อาจทำให้ผู้เข้ารับการตรวจเกิดรู้สึกไม่สบายตัวหรือเจ็บเพียงเล็กน้อย แต่อาการหรือความเจ็บจะหายไปเมื่อตรวจเสร็จ