ไม่ได้เปลี่ยนคู่นอนบ่อย เท่ากับ...ไม่เสี่ยงมะเร็งปากมดลูก จริงหรอ?
โรงพยาบาลเปาโล
05-ก.ค.-2565

มะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งสตรีที่พบได้บ่อยในผู้หญิงไทย และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มากถึงปีละกว่า 8,000 ราย ซึ่งการติดเชื้อ HPV ที่มาจากการมีเพศสัมพันธ์ คือปัจจัยสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก จึงทำให้หลายคนมักเข้าใจไปว่า หากไม่อยากเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกก็ไม่นอนกับใครไปทั่ว ซึ่งจริงๆ แล้ว...การที่เรามีคู่นอนเพียงคนเดียวก็อาจไม่ปลอดภัยเสมอไป!!

ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด “มะเร็งปากมดลูก” มีอะไรบ้าง?

  • มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 18 ปี
  • มีคู่นอนหลายคน ทำให้มีความเสี่ยงมากกว่าคนที่มีคู่นอนคนเดียวถึง 2 เท่า และถ้ามีคู่นอนมากกว่า 6 คนขึ้นไป ความเสี่ยงจะพุ่งสูงถึง 3 เท่าเลยทีเดียว
  • มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เริม หนองใน
  • เคยมีประวัติการเป็นมะเร็งหรือมีเซลล์เยื่อบุผิดปกติที่ช่องคลอดหรือที่อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก
  • มีภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ
  • มีบุตรคนแรกตอนอายุน้อยกว่า 20 ปี และการมีบุตรหลายคน
  • กินยาคุมกำเนิดเป็นเวลานานเกิน 5 ปี โดยมีการศึกษาพบว่าปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูกจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาในการรับประทานยาคุมกำเนิด
  • การสูบบุหรี่หรือรับควันบุหรี่มือสอง

“ไม่ได้เปลี่ยนคู่นอนบ่อย” ไม่ได้แปลว่า...ไม่เสี่ยงมะเร็งปากมดลูก

แม้ว่าการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยจะทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่า การมีคู่นอนเพียงคนเดียวจะไม่มีทางเป็นมะเร็งปากมดลูก! เพราะคู่นอนของเราที่มีเพียงคนเดียวนั้น...ก็อาจจะมีพฤติกรรมชอบเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ก็ได้ ซึ่งการมีเซ็กส์กับคู่นอนที่มีความเสี่ยงสูง ก็เท่ากับคุณได้เพิ่มโอกาสเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกให้กับตัวเองด้วยเหมือนกัน

ฉีดวัคซีน HPV แล้ว...ลดความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกได้ 100% ไหม

เพราะการติดเชื้อไวรัส HPV คือสาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูก การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV จึงเท่ากับการลดความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกในอนาคต แต่นั่นไม่ได้แปลว่า...วัคซีน HPV จะสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ 100% เต็มนะ เพราะวัคซีนนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาให้สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้แค่บางชนิดเท่านั้น

ไขคำตอบ! ทำไมควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสม่ำเสมอ

หลังการติดเชื้อ HPV คนไข้ไม่ได้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกไปซะทุกราย ในคนไข้บางรายร่างกายจะสามารถกำจัดเชื้อออกไปได้เอง ในขณะที่คนไข้บางรายเริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงในชั่นผิวของปากมดลูก ซึ่งมักถูกเรียกว่า “ระยะก่อนมะเร็ง” เป็นช่วงที่ร่างกายไม่มีอาการแสดงใดๆ ให้ได้รู้ตัว

ซึ่งหากนับระยะเวลาตั้งแต่เนื้อเยื่อปากมดลูกอยู่ในภาวะปกติไปจนถึงระยะก่อนมะเร็ง อาจใช้เวลานาน 2-10 ปี และจากเชื้อโรคค่อยๆ ลุกลามจนกลายเป็นมะเร็งได้นั้น ก็อาจยาวนานเฉลี่ยอีก 10-15 ปี เท่ากับว่าผู้หญิงทุกคนมีเวลานานมากพอที่จะป้องกันไม่ให้ระยะมะเร็งเกิดขึ้นได้ เพราะแบบนี้ “การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก” จึงเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้แพทย์ตรวจพบเชื้อและเริ่มรักษาได้เร็ว...ก่อนเชื้อจะกลายเป็นมะเร็ง!