ปัสสาวะเป็นเลือด “ส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ” หาต้นตอได้
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
14-มิ.ย.-2566
การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ เป็นอีกหนึ่งการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคในระบบกระเพาะปัสสาวะ สามารถตรวจเพื่อดูลักษณะของท่อปัสสาวะและเยื่อบุภายในกระเพาะปัสสาวะ ช่วยให้แพทย์มองเห็นจากกล้องชนิดพิเศษเรียกว่ากล้อง ซิสโตสโคป (cystoscope) ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อยาวมีกล้องพร้อมไฟส่องที่ปลายท่อสอดผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะเพื่อการวินิจฉัย ติดตามและรักษาโรคหรือความผิดปกติของท่อปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะได้อย่างชัดเจน

ทำไมต้องส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ
เมื่อมีข้อบ่งชี้สงสัยในความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ แพทย์อาจใช้การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค หรือหาสาเหตุของอาการต่างๆ อาทิ
• มีเลือดในปัสสาวะ (ปัสสาวะเป็นเลือด)
• พบเซลล์ผิดปกติในตัวอย่างปัสสาวะ
• ตรวจพบกระเพาะปัสสาวะติดเชื้อบ่อยๆ
• เมื่อมีอาการปวดบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ หรือปวดขณะถ่ายปัสสาวะ

   นอกจากการตรวจหาความผิดปกติในระบบกระเพาะปัสสาวะแล้ว การตรวจวิธีการมีประโยชน์อย่างยิ่งในการตรวจพบปัญหาอื่นๆ เช่น นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เลือดออก เนื้องอก และความผิดปกติทางรูปร่างของกระเพาะปัสสาวะ อีกทั้งยังสามารถตรวจและวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นการตรวจเพื่อหาตำแหน่ง ขนาด จำนวนและรูปร่างของเนื้องอก และตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันว่าเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ เป็นมะเร็งชนิดใด และมีการลุกลามมากน้อยแค่ไหน วินิจฉัยภาวะต่อมลูกหมากโต หรือท่อปัสสาวะตีบ การส่องกล้องจะช่วยให้แพทย์มองเห็นการตีบแคบของท่อปัสสาวะซึ่งเป็นผลมาจากการเบียดทับของต่อมลูกหมากที่โตขึ้น หรือการตีบของท่อปัสสาวะที่เกิดจากพังผืดได้อีกด้วย

ใครบ้างที่ควรเข้ารับการตรวจ ส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ
ผู้ที่มีความรู้สึกถึงความผิดปกติของตัวเอง เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน และอาการปวด เจ็บ หรือขณะปัสสาวะ ทั้งนี้ การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะเป็นโปรแกรมการรักษาที่มีความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนน้อย ดังนั้นหากพบความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับส่องการองกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะอย่างไร
วิธีการตรวจนี้ไม่ยุ่งยากมากนัก สามารถรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ตามปกติก่อนการตรวจ ผู้ป่วยอาจได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการส่องกล้อง หรือให้ยาชาเฉพาะที่ทาบริเวณท่อปัสสาวะขึ้นอยู่กับการพูดคุย ซักประวัติและดุลยพินิจของแพทย์ หากมีข้อสงสัยใดๆ สอบถามแพทย์ได้ทันทีโดยไม่ต้องลังเล ใช้ระยะเวลาในการตรวจประมาณ 15 - 30 นาที โดยผู้ป่วยอาจรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะแต่จะต้องรอจนกว่าการตรวจจะแล้วเสร็จ หากตรวจส่องกล้องแล้วพบความผิดปกติ ระหว่างการส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ แพทย์อาจตัดชิ้นเนื้อในกระเพาะปัสสาวะออกมาส่งตรวจทางพยาธิวิทยา หรือทำหัตถการอื่นๆ เพิ่มเติมได้ ภายหลังการส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ และควรดื่มน้ำให้มากเพื่อลดการระคายเคืองในท่อปัสสาวะ

ส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ มีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่
จากข้อมูลการรักษาอาจพบความเสี่ยง และภาวะแทรกซ้อนได้บ้าง อาทิ ติดเชื้อจากการส่องกล้อง เป็นภาวะที่เกิดได้น้อยมาก แต่เพื่อเป็นการป้องกันแพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะก่อนและหลังการส่องกล้องเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้ และหลังจากการตรวจ อาจปวดหน่วงๆ ในช่องท้อง ในช่วง 1 - 2 วันหลังการส่องกล้อง หรือรู้สึกปัสสาวะแสบขัด แนะนำให้การอาบน้ำอุ่น หรือใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นบิดพอหมาด ประคบบริเวณรูเปิดของท่อปัสสาวะจะช่วยให้อาการแสบลดลง ปัสสาวะมีเลือดปน ในช่วง 1-2 วันภายหลังการส่องกล้อง และจะค่อยๆ หายไปได้เอง แต่หากมีอาการเหล่านี้ นานเกิน 2 วัน ควรกลับมาพบแพทย์ทันที

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 1772 ต่อ โรคระบบทางเดินปัสสาวะ