อัมพฤกษ์ อัมพาต จากโรคหลอดเลือดสมอง
โรงพยาบาลเปาโลพระประแดง
15-มิ.ย.-2560
สมอง เป็นอวัยวะสำคัญทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางควบคุมการทำงานของร่างกาย หากเกิดความผิดปกติต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของสมอง ย่อมส่งผลต่ออวัยวะที่สมองส่วนนั้นควบคุมอยู่ หนึ่งในโรคสมองที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรโลกและคนไทย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คือ โรคหลอดเลือดสมองตีบ และหลอดเลือดสมองแตก (Stroke) ทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต สาเหตุที่ทำให้เซลล์สมองตายเพราะขาดเลือด แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ หลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตัน และหลอดเลือดสมองแตก หลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic Stroke) เกิดขึ้นเพราะหลอดเลือดสมองอุดตัน จึงทำให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยงในบริเวณที่มีการอุดตัน โดยมากเกิดในผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคอื่นร่วมด้วย เช่นภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือเกิดจากการอักเสบของหลอดเลือด อุบัติเหตุของหลอดเลือด ภาวะโรคหลอดเลือดบางชนิด อีกทั้ง จากกรณีมีโรคหัวใจบางชนิด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งก่อให้มีลิ่มเลือดไปอุดตันบริเวณหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดหลอดเลือดสมองตีบขึ้นได้ หลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) มีสาเหตุจากความเสื่อมของหลอดเลือด ซึ่งเป็นไปตามอายุ และปัจจัยร่วมอื่นๆ มีผลทำให้หลอดเลือดเกิดความเสื่อมได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงนานๆ และมีการคุมความดันโลหิตได้ไม่ดี หรือผู้ที่มีปัญหาหลอดเลือดผิดปกติแต่กำเนิด เป็นต้น ภาวะของโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยแต่ละราย มีสาเหตุ หรือปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างกัน และหลอดเลือดในสมองก็มีขนาดต่างๆ กัน อาการของผู้ป่วยจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลา การดำเนินของโรค ตำแหน่งที่เกิด และขนาดของหลอดเลือด อาการที่พบได้บ่อย เช่น อาการชา อ่อนแรง เวียนศีรษะ เดินเซ เห็นภาพซ้อน มีความผิดปกติด้านการใช้ภาษา ทรงตัวไม่ได้ เป็นต้น หากคนใกล้ตัวมีอาการเหล่านี้ ควรรีบนำส่งแพทย์ เพื่อตรวจและรักษาทันที เพราะโรคนี้มี เวลาทองเพียง 3 ชั่วโมงหลังเกิดอาการเท่านั้น หากผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลช้าอาจจะสูญเสียโอกาสที่จะได้รับการรักษา ซึ่งการรักษานั้นมีจุดประสงค์เพื่อที่จะรักษาเนื้อสมองที่ขาดเลือดให้มีเลือดกลับมาเลี้ยง ลดส่วนของสมองที่ขาดเลือดและตายไป เพื่อลดการเกิดภาวะทุพพลภาพ จาก     อัมพฤกษ์ อัมพาต และติดตามเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย

การตรวจวินิจฉัย และการรักษา

เมื่อถึงมือแพทย์ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจหาความผิดปกติในสมองด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI) หรือซีทีสแกน (CT SCAN) ที่มีความละเอียดสูงเข้ามาช่วยในการวินิจฉัย เมื่อได้ข้อสรุปว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อให้ทำการรักษาอย่างเหมาะสม รวมถึงการให้ยาละลายลิ่มเลือด (R-TPA) ซึ่งจะให้ในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้และไม่มีข้อห้าม นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และให้การรักษาโรคแทรกซ้อนอย่างอัมพฤกษ์ อัมพาตที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจะได้รับการทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ และดำเนินการแก้ไขปัจจัยเสี่ยง เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคซ้ำ ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

ศูนย์โรคระบบประสาทและสมอง อาคาร 4 ชั้น 3 โทร.02-271-7000 ต่อ 40397-99