นวัตกรรมใหม่ รักษาโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท โดยการจี้หมอนรองกระดูกด้วยคลื่นวิทยุ
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร

หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท
โรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท (Cervical radiculopathy) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการ ปวดร้าวลงแขน หัวไหล่ สะบัก (อาจจะมีความรู้สึกปวดจี๊ดเหมือนไฟช็อต หรือร้อนวูบวาบได้) ชาแขน ชานิ้วมือกล้ามเนื้ออ่อนแรง บริเวณหัวไหล่ ข้อศอก ข้อมือ และนิ้วมือ

สาเหตุของการเกิดโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท
หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทเป็นโรคที่เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอมีการเคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งปกติและทำให้เกิดการกดเบียดเส้นประสาท (Cervical Disc Herniation) ซึ่งสาเหตุของโรคสามารถแบ่งได้หลักๆ ดังนี้

หมอนรองกระดูกคอเสื่อม (Cervical Spondylosis Radiculopathy) : มักจะพบได้บ่อยที่สุด ในผู้สูงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป สาเหตุเกิดจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูก ทำให้โพรงเส้นประสาทตีบแคบลงและเกิดการกดเบียดเส้นประสาทจากหมอนรองกระดูกคอหรือกระดูกงอก

นั่งทำงานหรือก้มหน้าเป็นเวลานาน : เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่พบได้มากขึ้นในปัจจุบัน ก็คือสาเหตุจากการนั่งทำงานหรือมีกิจวัตรประจำวันที่ต้องก้มหน้าเป็นเวลานาน เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ เล่นโทรศัพท์มือถือ หรืออ่านหนังสือ ซึ่งการก้มศีรษะเป็นท่าทางที่ทำให้เกิดแรงกดลงบนหมอนรองกระดูกคอมากขึ้น จึงส่งผลให้หมอนรองกระดูกคอต้องรับน้ำหนักมากขึ้นและเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย

อุบัติเหตุ : หมอนรองกระดูกคอเคลื่อนอาจเกิดจากอุบัติเหตุหัวกระแทก หรือมีการสะบัดของคออย่างรุนแรง เช่น รถชน หรืออุบัติเหตุอาจไม่รุนแรงแต่เกิดขึ้นซ้ำบ่อยๆ เช่น ศิลปิน/นักร้อง ที่ต้องสะบัดคอบ่อยๆ


การวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท

ซึ่งการวินิจฉัยจะประกอบไปด้วย

การซักประวัติ : ประวัติสำคัญก็คืออาการปวดคอ ปวดบริเวณสะบัก ร้าวลงแขน ชา และแขนอ่อนแรง มีอาการชามือ อาจมีอาการแขนข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้

การตรวจร่างกาย : แพทย์มักจะตรวจร่างกายโดยให้ผู้ป่วยทำการหันหน้าและเงยหน้าขึ้น (Spurling’s test) เพื่อตรวจดูการกดทับของเส้นประสาท ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดร้าวลงแขนหรือชานิ้วมือปรากฏขึ้นในท่าทางนี้ นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องตรวจร่างกายทางระบบประสาทอย่างละเอียดเพื่อตรวจหาอาการชา และอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อตาม Dermatome ด้วย

X-ray : ใช้เพื่อดูสภาพความเสื่อมของหมอนรองกระดูกคอ ขนาดของโพรงเส้นประสาท (Neural foramen) และการเรียงตัวของแนวกระดูก

MRI : เป็นการตรวจที่มีความแม่นยำและความเฉพาะเจาะจงสูงที่สุดในการตรวจวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท โดยจะช่วยให้แพทย์สามารถระบุตำแหน่งของโรคและระดับความรุนแรงได้แม่นยำมากขึ้น

       EMG/NCV : เป็นการตรวจการทำงานของเส้นประสาท โดยการวัดการทำงานของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์จะพิจารณาส่งตรวจในเคสที่มีความซับซ้อนหรือมีความขัดแย้งกันระหว่างอาการของผู้ป่วยและผล MRI

การรักษาโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท
ในส่วนการรักษาสามารถรักษาได้ทั้งวิธีผ่าตัดและไม่ผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นของอาการที่ผู้ป่วยเป็นโดยทั่วไปจะเริ่มจากการรับประทานยา ทำกายภาพบำบัด แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นอาจจะพิจารณาวิธีสุดท้าย คือ การผ่าตัด

การจี้หมอนรองกระดูก โดยใช้คลื่นวิทยุ (Nucleoplasty)
การจี้หมอนรองกระดูกด้วยคลื่นวิทยุเป็นหัตถการที่ไม่ใช่การผ่าตัด เพราะแพทย์จะใช้เข็มที่มีขนาด 1 มิลลิเมตร หรือเท่ากับเข็มฉีดยา แทงเข้าไปบริเวณที่หมอนรองกระดูกปลิ้นออกมา จากนั้นจะปล่อยกระแสความร้อนของเลเซอร์หรือคลื่นวิทยุผสมกับกระแสความร้อนของเลเซอร์ เข้าไปจี้ตัวหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นออกมา จากนั้นหมอนรองกระดูกก็จะหดตัวกลับเข้าไปเหมือนเดิม ซึ่งการทำวิธีนี้มีความเสี่ยงที่ต่ำ คนไข้เสียเลือดน้อยมาก เหมาะกับผู้ป่วยที่มักเป็นหมอนรองกระดูกปลิ้นที่ออกมาไม่มาก และพบมากที่บริเวณคอและเอว ซึ่งสาเหตุที่คนมักจะเป็นที่ส่วนคอ สาเหตุมาจากในปัจจุบันวิถีชีวิตคนส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนไป เพราะนั่งทำงานอยู่แต่ในออฟฟิศ นั่งอยู่แค่ที่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานานๆ ทำให้เกิดหมอนรองกระดูกปลิ้นที่คอมากขึ้น

ข้อดีของการจี้หมอนรองกระดูกด้วยคลื่นวิทยุ

- ไม่ต้องเปิดแผลที่มีขนาดใหญ่ เพราะเข็มในการทำเลเซอร์มีขนาด 1 มิลลิเมตร หรือเท่ากับเข็มฉีดยา

- คนไข้เสียเลือดน้อย

- กระทบกระเทือนเส้นประสาทน้อย

- ภาวะแทรกซ้อนต่ำกว่าการผ่าตัดใหญ่

- ฟื้นตัวเร็วหลังจากการผ่าตัด

ข้อควรหลีกเลี่ยงหลังจากจี้หมอนรองกระดูกด้วยคลื่นวิทยุ

- ไม่ยกของหนัก

- ไม่ควร นั่งพับเพียบ ,นั่งยองๆ , คุกเข่า , นั่งขัดสมาธิ เป็นเวลานาน ถ้าหากจำเป็นต้องอยู่ท่านี้นานเกิน 1 ชั่วโมงก็ควรลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสาย แล้วค่อยกลับไปนั่งใหม่

- ไม่ควรทำกิจกรรมโลดโผนที่ทำให้กระดูกสันหลังเกิดแรงกระแทก

       อย่างไรก็ตาม จะรักษาด้วยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุได้นั้นคุณต้องเข้ามาทำการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาทก่อน จากนั้นต้องทำ x-ray และ MRI ก่อน แพทย์ถึงจะสามารถวินิจฉัยโรคและทำการรักษาด้วยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุได้ ถ้าหากผล x-ray และ MRI ออกมาแล้วพบว่าหมอนรองกระดูกปลิ้นออกมาไม่มาก ทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็จะทำการรักษาด้วยแสงเลเซอร์ แต่ถ้าหมอนรองกระดูกปลิ้นออกมาเยอะ ทางแพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดแบบส่องกล้อง และนำเอาแสงเลเซอร์เข้าไปช่วยในการรักษาด้วย ก็จะทำให้หมอนรองกระดูกที่ปลิ้นออกมานั้นยุบตัวและกลับเข้าไปเหมือนเดิม




สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกศัลยกรรม กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5114

Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset