การตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ Allergy Screening
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
05-ม.ค.-2566
การตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ Allergy Screening
       
         
          เพื่อการรู้ทันปัญหาโรคภูมิแพ้ เราต้องหมั่นสังเกตอาการหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ร่วมกับการใส่ใจในรายละเอียดของการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการกิน การสัมผัส สภาพอากาศ การอยู่ในสิ่งแวดล้อมใดนานๆ เนื่องจากสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นปัจจัยกระตุ้นก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้นั้นมีแหล่งที่มาอันหลากหลาย และในแต่ละบุคคลก็จะมีอาการแพ้ที่แตกต่างกันไป หากเราพอสังเกตได้ในส่วนนี้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากที่จะช่วยให้การค้นหาสาเหตุเป็นไปได้อย่างรวดเร็วเมื่อไปพบแพทย์ ก่อนที่จะวางแผนการดูแลรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสมต่อไปตามชนิดและอาการแพ้ที่เป็น


Allergy Screening

การตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ Allergy Screening
           ในการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้นั้น แพทย์จะทำการซักประวัติสุขภาพ ร่วมกับการทดสอบหาสารก่อภูมิแพ้ โดยเลือกวิธีการทดสอบที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล ซึ่งมีการตรวจ 3 วิธีหลักๆ ดังนี้

1.การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง Skin Test
          จะใช้วิธีการหยดน้ำยาภูมิแพ้ลงไปบริเวณท้องแขน และใช้เครื่องมือที่มีลักษณะเป็นเข็มเล็กๆ สะกิดบริเวณผิวหนัง หลักจากทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีก็จะอ่านผลได้ทันที โดยการตรวจโรคภูิมิแพ้ด้วยวิธีนี้ สามารถหาสารก่อภูมิแพ้ได้หลายชนิดภายในการตรวจครั้งเดียว นิยมตรวจในกลุ่มภูมิแพ้อากาศ ทั้งนี้ผู้เข้ารับการตรวจจำเป็นต้องงดยาแก้แพ้ และยาชนิดอื่นๆ ที่มีผลต่อการควบคุมอาการแพ้ก่อนเข้ารับการตรวจอย่างน้อย 7 วัน เป็นวิธีที่แนะนำให้ตรวจได้ในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป

2.การทดสอบโรคภูมิแพ้ด้วยการเจาะเลือด Allergy Blood Test

          สามารถตรวจสารภูมิแพ้ได้หลายชนิดในการตรวจครั้งเดียว โดยไม่ต้องงดยาแก้แพ้ก่อนเข้ารับการตรวจ จึงเหมาะกับผู้ป่วยภูมิแพ้ที่มีอาการรุนแรง เช่น กลุ่มผื่นลมพิษชนิดที่ควบคุมไม่ได้ และจำเป็นต้องควบคุมอาการโดยการใช้ยาภูมิแพ้อย่างสม่ำเสมอ หรือกลุ่มแพ้อาหาร เช่น นม ไข่ แป้งสาลี แต่การตรวจด้วยวิธีนี้จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังแบบ Skin Test

3.การทดสอบการแพ้อาหาร Oral Food Challenge Test
          การทดสอบด้วยวิธีนี้เหมาะกับกลุ่มภูมิแพ้อาหารชนิดรักษาได้ ซึ่งผู้เข้ารับการตรวจจะต้องผ่านการรักษามาสักระยะหนึ่งแล้ว เป็นการทดสอบเพื่อช่วยยืนยันผลการรักษา และยืนยันการแพ้อาหารว่าจริงหรือไม่ ในการทดสอบผู้เข้ารับการตรวจต้องลองทานอาหารที่แพ้โดยการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ โดยก่อนเข้ารับการทดสอบด้วยวิธีนี้ผู้เข้ารับทดสอบต้องผ่านการประเมินความเสี่ยงระดับความรุนแรงของการแพ้ จากการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง Skin Test หรือการทดสอบโรคภูมิแพ้ด้วยการเจาะเลือด Allergy Blood Test มาก่อน เพื่อป้องกันอันตรายในการแพ้รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการทดสอบ

          ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดใด อาการรุนแรงมากน้อยหรือไม่ การเข้ารับการทดสอบจะอยู่ในการดูแลของแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยและได้ผลที่แม่นยำ นำไปสู่การรักษาที่ถูกจุดต่อไป


บทความโดย
กุมารแพทย์ ชำนาญการด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
โรงพยาบาลเปาโล เกษตร

สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล เกษตร โทร. 02 1500 900