ไขข้อข้องใจ... ค่าต่างๆ ในผลตรวจสุขภาพ บอกอะไรได้บ้าง (PART 1)
โรงพยาบาลเปาโล
12-ธ.ค.-2566

ได้รับผลตรวจสุขภาพทีไรก็เห็นแต่ตัวเลขเต็มไปหมด ตอนคุณหมออธิบายก็ว่าเข้าใจแล้ว แต่พอกลับมาย้อนดูทีไรก็งงทุกที เชื่อว่าหลายคนต้องเคยประสบปัญหาแบบนี้ จนทำให้ไม่ได้ใส่ใจที่จะติดตามผลการตรวจสุขภาพของตนเอง ทั้งที่จริงๆ แล้วค่าตัวเลขเหล่านี้ ล้วนสะท้อนพฤติกรรมและเป็นเหมือนการทำนายโอกาสในการเกิดโรคได้เป็นอย่างดีเลยล่ะ ฉะนั้น! รีบไปหยิบผลตรวจสุขภาพขึ้นมาดูกันดีกว่า ว่าร่างกายของเราเป็นอย่างไร? และมีสิ่งใดที่ควรปรับปรุงอย่างเร่งด่วนบ้าง?...

ค่าไหน บอกอะไร? มาทำความเข้าใจกัน

1. ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count หรือ CBC)

เริ่มกันที่ค่า CBC หรือค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ค่านี้จะบอกให้รู้ว่าเลือดของเรามีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงโรคโลหิตจาง หรือภาวะธาลัสซีเมีย และมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ โดยจะมีการแยกย่อยเป็นค่าต่างๆ ดังนี้

  • ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin:Hb/HGB) เป็นค่าระดับโปรตีนในเซลล์เม็ดเลือดแดง ที่บอกถึงความสามารถของเม็ดเลือดในการลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย
  • ค่าปกติของฮีโมโกลบิน

    ผู้ชาย13–17.4 grams per deciliter (g/dL)
    ผู้หญิง12–16 grams per deciliter (g/dL)

    - หากค่าสูงกว่ามาตรฐาน จะหมายถึงการมี 'ภาวะเลือดข้น'

    - หากค่าต่ำกว่ามาตรฐาน จะหมายถึงการมี 'ภาวะโลหิตจาง'

  • ฮีมาโทคริต (Hematocrit: HCT) เป็นค่าปริมาณความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงต่อปริมาตรของเลือดทั้งหมด ซึ่งค่านี้จะแสดงโดยการวัดเป็นเปอร์เซ็นต์
  • ค่าปกติของฮีมาโทคริต

    ผู้ชาย40-50%
    ผู้หญิง35-47%

    - หากค่าสูงกว่ามาตรฐาน จะหมายถึงการมี 'ภาวะเลือดข้น'

    - หากค่าต่ำกว่ามาตรฐาน จะหมายถึงการมี 'ภาวะโลหิตจาง'

  • จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว (White Blood Cell Count: WBC) ซึ่งในผู้ที่สภาพร่างกายแข็งแรงเป็นปกติ ควรมีเม็ดเลือดขาวประมาณ 4,500-10,000 cell/ml
  • - หากค่าสูงกว่ามาตรฐาน อาจหมายถึงมีภาวะการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสต่างๆ ในร่างกาย

    - หากค่าต่ำกว่ามาตรฐาน จะถือว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

  • การจำแนกชนิดของเม็ดเลือดขาว (Differential WBC) เม็ดเลือดขาวเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับเชื้อโรคที่รุกรานเข้ามาในร่างกายของเรา ซึ่งแต่ละชนิดก็จะทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันเชื้อโรคต่างชนิดกันไปเลือด
  • ค่าปกติของเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิด

    Neutrophils50%–70%
    Lymphocytes20%–40%
    Monocytes0%–7%
    Basophils0%–1%
    Eosinophils 0%–5%

    หากค่าเม็ดเลือดขาวชนิดใดเพิ่มสูงกว่าค่ามาตรฐาน จะหมายถึงมีการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในกลุ่มนั้นๆ แต่หากค่า Eosinophils สูงก็จะบ่งบอกถึงอาการแพ้ การติดเชื้อปรสิต หรือพยาธิในร่างกาย

  • จำนวนเกล็ดเลือด (Platelet (thrombocyte) count) เพราะเกล็ดเลือดมีบทบาทสำคัญในการทำให้เลือดหยุดไหล หากเรามีเกล็ดเลือดน้อยเกินไปก็จะทำให้เลือดออกแล้วไม่หยุด แต่หากเกล็ดเลือดมากเกินไป ก็จะมีโอกาสที่จะเกิดการจับตัวกันของเกล็ดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบได้ ส่วนปริมาณเกล็ดเลือดที่เหมาะสมคือ 140,000–440,000 platelets/mm3 นั่นเอง

  • 2. ระดับน้ำตาลในเลือด

    ในการตรวจสุขภาพจะแบ่งการตรวจน้ำตาลในเลือด ออกเป็น 2 รูปแบบด้วยกัน คือ

  • Fasting Blood Sugar หรือ การตรวจหาระดับปริมาณกลูโคสในเลือด หลังการงดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดมาแล้วอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ซึ่งจะบอกถึงความเสี่ยงของโรคเบาหวานได้ โดยค่าน้ำตาลในเลือดตามมาตรฐานควรอยู่ที่ 70-100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (mg/dL) หากค่าสูงกว่านี้จะถือว่าเข้าข่ายเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน แพทย์อาจพิจารณาให้มีการตรวจติดตามซ้ำอีกครั้ง เพื่อวินิจฉัยให้แน่ชัด
  • HbA1c หรือ ฮีโมโกลบิน เอวันซี เป็นค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในรอบ 3 เดือน ซึ่งจะช่วยบอกถึงความเสี่ยงของโรคเบาหวาน รวมทั้งใช้ติดตามการคุมน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานได้อย่างแม่นยำ โดยค่า HBA1c ที่เหมาะสมของคนทั่วไป คือ 4.8-6% แต่สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานก็ควรรักษาระดับ HBA1c ให้ต่ำกว่า 7% หรือหากเทียบกับค่าเฉลี่ยน้ำตาลในเลือด จะอยู่ที่ 154 mg/dL เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน

  • 3. ระดับไขมันในเลือด
  • คอเลสเตอรอล (Cholesterol) คือ ไขมันชนิดหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อร่างกาย ช่วยผลิตฮอร์โมนต่างๆ และยังคอยห่อหุ้มเซลล์ รวมทั้งเส้นใยประสาทให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะมีประโยชน์หลากหลาย แต่ร่างกายก็ควรมีปริมาณคอเลสเตอรอลไม่เกิน 200 mg/dL เพราะหากมีมากไป อาจเกิดการตกค้างอยู่ตามหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดอุดตันได้
  • ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) คือ แหล่งพลังงานชั้นดีของร่างกาย เป็นไขมันที่ร่างกายได้รับจากอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล ไขมัน แอลกอฮอล์ และสามารถสังเคราะห์ได้เองจากตับ ซึ่งค่าที่เหมาะสมก็คือไม่เกิน 150 mg/dl
  • ไขมันไม่ดี (LDL-cholesterol) ไขมันชนิดนี้นี่แหล่ะ ที่เป็นตัวการสำคัญนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง ร่างกายของเราจึงไม่ต้องการไขมันชนิดนี้เท่าไหร่นัก ดังนั้นในผู้ที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงควรมีไขมัน LDL ไม่เกิน 100 mg/dL
  • ไขมันดี (HDL-cholesterol) ไขมันชนิดนี้มีหน้าที่หลักในการช่วยนำคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ไปกำจัดทิ้ง จึงช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดหัวใจได้ แต่แม้ว่าจะเป็นไขมันดีก็ยังจัดว่าเป็นไขมัน ดังนั้นจึงควรบริโภคอย่างพอเหมาะ โดยปริมาณไขมันดีที่เหมาะสมก็คือ >40 mg/dL (ในผู้หญิง) และ >50 mg/dL (ในผู้ชาย)

  • บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม