ไขข้อข้องใจ..ตรวจสุขภาพต้องตรวจอะไร แล้วดีกับคุณอย่างไร?
โรงพยาบาลเปาโล
09-เม.ย.-2567

เชื่อว่าหลายคนต้องเคยสงสัยบ้างล่ะว่า “ทำไมถึงต้องตรวจสุขภาพประจำปี” ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ดูแลสุขภาพด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และยังไม่ได้ป่วยเป็นอะไรสักหน่อย ไม่เห็นจำเป็นต้องไปตรวจสุขภาพให้เสียเงินเสียเวลาเลย ในความจริงแล้ว... การที่เรายังไม่มีอาการก็ไม่ได้หมายความว่าสุขภาพของเราแข็งแรงดีอย่างที่รู้สึก เพราะอวัยวะของเรานั้นย่อมมีความเสื่อมแบบที่เราไม่สามารถสังเกตเห็นได้เอง และไม่แน่ว่าอาจจะมีโรคอะไรสักอย่างที่รอเวลาแสดงอาการอยู่ก็เป็นได้

 

การตรวจสุขภาพเพื่อประเมินสภาพร่างกาย เมื่อรู้เร็ว...ก็รักษาได้เร็ว

จริงอยู่ที่ร่างกายภายนอกอาจจะดูแข็งแรงเป็นปกติดี แต่ใครจะรู้ว่าอวัยวะภายในอาจกำลังเจ็บป่วยอยู่ หรือเกราะป้องกันที่เคยแข็งแรงกำลังทรุดตัวลงหรือกำลังเสี่ยงต่อการเกิดโรค เพราะอวัยวะภายในหากไม่ได้ตรวจด้วยวิธีทางการแพทย์ เราก็ไม่อาจประเมินความแข็งแรงได้ การตรวจสุขภาพจะเป็นตัวช่วยประเมินว่า เรามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางโรค หรืออาจจะพบโรคที่กำลังก่อตัว ดังนั้นการตรวจสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะยิ่งรู้ปัญหาหรือพบเจอโรคต่างๆ ได้เร็วเท่าไหร่ ก็เท่ากับเปอร์เซ็นต์ของการหายจากโรคนั้นมีมากขึ้นด้วย

 

เพราะการตรวจสุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องของวัย

การตรวจสุขภาพนั้นไม่ใช่เรื่องสำหรับคนอายุเยอะหรือผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วการตรวจสุขภาพไม่ได้จำกัดที่ช่วงวัย เพียงแต่ต้องเลือกการตรวจให้เหมาะสมกับเพศและวัยเท่านั้นเอง

 

ตรวจสุขภาพแบบเวิร์กๆ ต้องเคลียร์ตามนี้

การตรวจสุขภาพที่ดี ควรเป็นการตรวจที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาและความเสี่ยงในด้านสุขภาพของแต่ละบุคคล ไม่ใช่แค่การตรวจหาความเสี่ยงของโรคร้ายแรงอย่างเดียวเท่านั้น นอกจากการตรวจแล้ว ควรจะมีการแนะนำให้ผู้รับการตรวจทราบถึงความเสี่ยง และแนวทางในการปฎิบัติตัวเพื่อการมีสุขภาพดี และการปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตให้อยู่แบบไม่ประมาทด้วย

 

ตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐาน มักตรวจอะไรบ้าง?

  • Complete Blood Count (CBC) ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด คือ การตรวจนับปริมาณเม็ดเลือดแดง รูปร่างของเม็ดเลือดแดงเพื่อบ่งชี้ภาวะของโลหิตจาง และการตรวจนับเม็ดเลือดขาวเพื่อดูการติดเชื้อและภูมิต้านทานของร่างกาย รวมถึงการตรวจเกล็ดเลือดเพื่อดูความสามารถในการแข็งตัวของเลือดเมื่อเกิดบาดแผล
  • Glucose การตรวจวัดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด เพื่อทำการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน และประเมินการควบคุมระดับน้ำตาลของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • Hemoglobin A1C การตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเลือดของตลอดระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา เพื่อคัดกรองโรคเบาหวาน และประเมินการควบคุมระดับน้ำตาลของผู้เป็นเบาหวาน
  • Total Cholesterol การตรวจวัดระดับไขมันในเลือดอย่างสมบูรณ์ของระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคความดันโลหิตสูง แบ่งเป็น
  • HDL-Cholesterol ไขมันชนิดดี ทำหน้าที่ป้องกัน LDL และ Cholesterol ไปสะสมที่เส้นเลือด
  • LDL-Cholesterol ไขมันชนิดไม่ดี เป็นชนิดที่มีมากจะเป็นอันตราย เพราะเป็นคอเลสเตอรอลที่ไปสะสมในผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบ-ตัน
  • Triglyceride ไตรกลีเซอไรด์ ได้จากการสังเคราะห์ที่ตับ สาเหตุที่ทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูง ได้แก่ ขาดการออกกำลังกาย น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน การรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป
  • High Sensitivity C-Reactive Protein คือ การตรวจเพื่อบอกถึงค่าความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวตีบ การตรวจ hsCRP เป็นการตรวจหาระดับโปรตีนที่มีชื่อว่า C-reactive Protein (ซี-รีแอคทีฟโปรตีน) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีอยู่ในเลือดของเรา แต่ละคนมีระดับ CRP ไม่เท่ากัน หากเซลล์อักเสบอย่างต่อเนื่องระดับ CRP ก็จะสูงตาม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นและพัฒนาไปสู่โรคร้ายหลายๆ ชนิดได้ เช่น มะเร็ง การเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง และนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในที่สุด
  • Uric Acid คือ การตรวจวัดระดับยูริคในเลือดที่สูงกว่ามาตรฐานของโรคเก๊าท์ โรคนิ่วในไต ส่วนสาเหตุที่ทำให้ระดับยูริคสูงขึ้น อาจเกิดจากพันธุกรรม หรือการบริโภคอาหารที่มีพิวรีนสูง ได้แก่ สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ ผักบางชนิด เช่น แตงกวา หน่อไม้ฝรั่ง ยอดผัก
  • Blood Urea Nitrogen (BUN) คือ ตรวจการทำงานของไต วัดระดับปริมาณของเสียที่ปกติแล้วร่างกายจะขับออกไปได้ แต่หากคุณมีโรคไตจะทำให้มีการคั่งของ Creatinine ในร่างกาย ซึ่งเป็นสารที่บ่งบอกถึงคุณภาพการทำงานของไต
  • Serum Glutamic Oxaloacetic Transaminase (SGOT/AST) คือ ตรวจการทำงานของตับ เอนไซม์ที่พบได้จากเนื้อเยื่อของอวัยวะหลายชนิด ได้แก่ หัวใจ กล้ามเนื้อ สมอง ตับอ่อน ม้าม และไต ซึ่งจะสูงขึ้นผิดปกติเมื่อมีการบาดเจ็บหรือการอักเสบของอวัยวะอันเนื่องมาจากการรับประทานยาบางชนิด หรือการบาดเจ็บของกระดูก
  • การตรวจไวรัสตับอักเสบเอ บี และซี เพื่อตรวจหาความเสี่ยง หรือดูว่ามีภูมิคุ้มกันหรือยัง เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งตับในอนาคต

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ร่างกายของคนเรานั้นย่อมมีความเสื่อม และมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคต่างๆ มากมาย แม้ว่าเราจะเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนเพียงพอ ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ หรือไม่มีพฤติกรรมทำร้ายสุขภาพ แต่เราก็ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าสุขภาพของเราจะดีได้ตลอดไป เพราะนอกจากปัจจัยเหล่านี้แล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด มลภาวะ รวมไปถึงโรคทางพันธุกรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสาเหตุที่จะทำให้เราเป็นโรคอะไรก็ได้ทุกเมื่อ ดังนั้น การตรวจสุขภาพจึงมีความสำคัญในการคัดกรอง เพราะหากพบโรคเร็ว การรักษาก็จะได้ผลดีกว่าไปพบโรคในระยะรุนแรงหรือลุกลามไปมากแล้ว