รู้ทันความเสี่ยง เลี่ยงมะเร็งตับ
โรงพยาบาลเปาโล
16-พ.ย.-2565

รู้หรือไม่? มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ของผู้ชายไทย

รู้หรือไม่? มะเร็งตับคร่าชีวิตคนไทย ไม่น้อยกว่าปีละ 15,000 คน

รู้หรือไม่? ประชากรไทยป่วยด้วยมะเร็งตับสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก

แล้วคุณเคยรู้ไหมว่า การตรวจพบมะเร็งตับในระยะแพร่กระจาย มักจะมีโอกาสเสียชีวิตได้ภายใน 3-6 เดือน

ตับนั้น สำคัญไฉน 
ขนาดก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งบอกถึงความสำคัญ ร่างกายของเราจึงแบ่งพื้นที่ให้ตับได้เป็นพี่ใหญ่ หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นอวัยวะภายในที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายของเรานั่นเอง หน้าที่อย่างแรกของตับที่เราคุ้นเคยก็คือคอยกำจัดสารพิษและของเสียออกจากร่างกาย ทุกครั้งที่กระเพาะอาหารทำการย่อยอาหารให้อยู่ในขนาดที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้แล้ว ตับจะเลือกคัดกรองสารอาหารที่ดีเก็บไว้เหมือนคลังเสบียง แล้วกำจัดสารพิษที่ปะปนมาไปทางปัสสาวะและน้ำดี เมื่อร่างกายต้องการสารอาหาร ตับก็จะแปลงสิ่งที่กักเก็บไว้ไปในรูปแบบสารอาหารที่ร่างกายต้องการ และตับยังทำหน้าที่ผลิตน้ำดีในการย่อยอาหาร ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยรักษาสมดุลในร่างกายอีกด้วย

โดยธรรมชาติแล้ว ตับเป็นอวัยวะที่ทนทานและสามารถฟื้นตัวได้ดี แต่หากร่างกายได้รับสารพิษเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ตับก็จะเกิดการอักเสบแล้วค่อยๆ พัฒนาไปเป็นตับแข็ง และกลายเป็นมะเร็งตับในที่สุด ซึ่งตับมักจะไม่แสดงอาการผิดปกติใดจนกว่าเซลล์มะเร็งจะลุกลามซึ่งยากต่อการรักษาแล้ว ดังนั้นการตรวจสุขภาพตับอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นทางเลือกที่ดี ที่คนรักสุขภาพไม่ควรมองข้าม

มะเร็งตับ ไม่ได้มีแค่ชนิดเดียว
มะเร็งตับ แบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลักๆ คือ

  • มะเร็งเซลล์ตับ (HCC) ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดที่พบมากที่สุดในไทย มักพบในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด และผู้ป่วยตับแข็ง รวมทั้งผู้ที่มีประวัติติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี
  • มะเร็งท่อน้ำดีในตับ (CCA)ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ จากการกินปลาดิบๆ หรือปลาที่ยังไม่สุกดีที่มีพยาธิชนิดนี้แฝงอยู่ ซึ่งจะกระตุ้นให้เซลล์ท่อน้ำดีกลายพันธุ์เป็นมะเร็งท่อน้ำดีในที่สุด นอกจากนี้ยังพบอีกว่าการบริโภคอาหารแปรรูปและอาหารหมักดองปริมาณมากๆ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งชนิดนี้ได้

ใครบ้างที่เสี่ยง

  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง

  • ผู้ที่เคยมีประวัติตับอักเสบ จากเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และ ซี

  • ผู้ที่มีน้ำหนักมาก

  • ผู้ที่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีไวรัสตับอักเสบบีในร่างกายจะยิ่งมีความเสี่ยงสูง

  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน

  • ผู้ที่สัมผัสกับสารเคมีเป็นประจำ

อาการเตือนต้องระวัง

  • ปวด แน่น เจ็บบริเวณท้องด้านบนและลิ้นปี่ คล้ายกับโรคกระเพาะอาหาร

  • มีก้อนขนาดใหญ่ใต้ชายโครงด้านขวา

  • ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต

  • คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลดแบบไม่ทราบสาเหตุ

รู้ให้ทัน ก่อนสายเกิน!

ปัจจุบันเราสามารถตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคมะเร็งตับได้ โดยเจาะเลือดหาระดับของสารแอลฟาฟีโตโปรตีน หรือ AFP ซึ่งเป็นสารที่มะเร็งตับชนิดเซลล์ตับผลิตออกมา หากพบค่า AFP เกินกว่า 200 ng/mL จะเข้าข่ายมีความเสี่ยงสูง ปริมาณ AFP ที่ตรวจพบยังมีความสัมพันธ์กับระยะของโรค หากตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ค่า AFP จะสูงเพียงเล็กน้อย และจะเพิ่มสูงขึ้นตามอาการ

สำรวจตัวเองกันตั้งแต่วันนี้ ใครที่มีอาการต้องสงสัย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างตรงจุด เพราะรู้เร็ว…ย่อมรักษาได้ดีกว่า