หมอนรองกระดูกสันหลัง กดทับเส้นประสาท
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
08-ธ.ค.-2566

หมอนรองกระดูกสันหลัง กดทับเส้นประสาท

กระดูกสันหลังมีหน้าที่ช่วยค้ำจุนร่างกายให้ตั้งตรง เป็นสะพานเชื่อมเส้นประสาทจากสมองสู่เชิงกราน และถูกใช้รับน้ำหนักจากลำตัว ถือเป็นอวัยวะที่เมื่อเกิดความเสียหายก็อาจเกิดปัญหารุนแรงต่อสุขภาพโดยรวมของเราได้ เพราะภายในกระดูกสันหลังมีอวัยวะชิ้นเล็กๆ วางเรียงๆ ต่อกันในข้อต่อของกระดูกสันหลังแต่ละข้อ เรียกว่า “หมอนรองกระดูก” ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูง ทำหน้าที่เหมือนเป็นหมอนหรือโช้คอัพประจำตัว คอยรับน้ำหนักและแรงกระแทกที่มาจากกระดูกสันหลัง

 

โดยในวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น หมอนรองกระดูกจะมีลักษณะเป็นก้อนนิ่มๆ ยืดหยุ่นได้ดี แต่เมื่ออายุมากขึ้น หมอนรองกระดูกก็จะเริ่มแข็งขึ้นและแบนลงเรื่อยๆ ทำให้รู้สึกว่าร่างกายเตี้ยลง พอความยืดหยุ่นลดลง หมอนรองกระดูกก็จะปลิ้นออกมาจนไปกดทับเส้นประสาท ส่งผลให้เส้นประสาทอักเสบ โดยเฉพาะกระดูกสันหลังระดับเอวข้อที่ 4 - 5 และกลายเป็น “โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท” ในที่สุด ทั้งนี้ผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท จะมีอาการดังนี้

 


อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

  • ปวดหลัง ปวดสะโพก ปวดร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างอย่างรุนแรง และจะปวดมากขึ้นเวลาไอ หรือจาม
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อสะโพก กล้ามเนื้อที่ใช้ในการพยุงกระดูกข้อเท้า รวมถึงปลายนิ้วหัวแม่เท้า
  • ปลายเท้าชา โดยเฉพาะบริเวณง่ามนิ้วหัวแม่เท้า
  • ระบบขับถ่ายมีปัญหา ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก จะมีความผิดปกติของระบบขับถ่ายร่วมด้วย เช่น ไม่สามารถกลั้นอุจจาระหรือปัสสาวะได้ ซึ่งอาการแบบนี้ค่อนข้างน่ากังวล จำเป็นต้องมีการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบขับถ่ายเสียหายจนไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามปกติ



การรักษา “โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท”
1.
หมอนรองกระดูกทำหน้าที่รองรับน้ำหนักตัว จึงแนะนำให้รักษาโดยการลดน้ำหนัก เพื่อลดแรงกดที่สันหลัง พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นการเพิ่มน้ำหนักตัว เช่น

          - การยกของหนัก
          - นั่งรถยนต์เป็นเวลานาน
          - เลี่ยงการปฏิบัติตัวที่ทำให้เกิดอาการท้องผูก การเบ่ง หรือเบ่งถ่ายอุจจาระแรงเกินไป เป็นต้น เนื่องจากทำให้เกิดแรงดันในหมอนรองกระดูก ทำให้หมอนรองกระดูกเกิดแรงเค้นสูง ส่งผลให้เกิดการแตกของหมอนรองกระดูกตามมา
2.
รับประทานยาต้านการอักเสบ NSAIDS และยาคล้ายกล้ามเนื้อ
3.
ใช้กายภาพบำบัดและใช้เสื้อพยุงหลัง เพื่อช่วยลดอาการปวด หน้าท้องกระชับขึ้น และลดแรงเค้นที่กระดูกสันหลัง ช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้น ร่วมกับลดเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง ก็จะช่วยให้ลดอาการปวดได้ยิ่งขึ้น
4.
การผ่าตัด ซึ่งจะต้องอยู่ในวิจารณญาณของแพทย์ โดยจะพิจารณาจาก
          - ผู้ป่วยที่มีอาการปวดมากจนทนไม่ไหว แม้จะมีการรักษาโดยการรับยา พักผ่อน และทำกายภาพบำบัดแล้วก็ตาม
          - มีอาการชา อ่อนแรง หรือกล้ามเนื้อขาลีบอย่างเห็นได้ชัด
          - มีปัญหาระบบขับถ่ายผิดปกติที่เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาท เช่น กลั้นอุจจาระหรือปัสสาวะไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการรักษา แพทย์จะแนะนำให้รักษาโดยใช้ยาควบคู่ไปกับการทำกายภาพบำบัดในขั้นต้น ซึ่งหากรักษาตามปกติแล้วยังไม่หาย ก็จะแนะนำให้ใช้การรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้องขยาย (Microscopic Spine Surgery) แทน




การผ่าตัดด้วยการส่องกล้องขยาย (Microscopic Spine Surgery)

การผ่าตัดกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท โดยทั่วไปศัลยแพทย์จะใช้เครื่องมือในการตัดกระดูก และเส้นเอ็นเพื่อขยายโพรงประสาท และคลายการกอดรัดของเส้นประสาท โดยในระหว่างการผ่าตัดโพรงประสาทบางตำแหน่งอาจมีขนาดที่ตีบแคบมาก ทำให้มองเห็นเส้นประสาทได้ไม่ชัดเจน ซึ่งการสอดใส่เครื่องมือแพทย์ในโพรงประสาทอาจเป็นอันตรายต่อเส้นประสาทได้

โดยการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังด้วยการส่องกล้องขยายนั้น แพทย์จะทำการเจาะรูที่ข้างลำตัวหรือบริเวณแนวกระดูกสันหลัง ขนาดประมาณ 1 - 2 เซนติเมตรเพื่อให้สามารถสอดกล้องขยายเข้าไปได้ ขนาดแผลผ่าตัดส่องกล้องจึงเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผล และช่วยให้แพทย์เห็นรายละเอียดโครงสร้างภายในขณะผ่าตัดได้ชัดเจนยิ่งขึ้นผ่านกล้องขยาย

 

ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้อง

  • ช่วยลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อและอวัยวะภายใน ช่วยให้เจ็บน้อยลง และลดการเสียเลือด
  • ขนาดของแผลเล็กเพียง 1 - 2 เซนติเมตร เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดแผลที่มีขนาดกว้างถึง 12 - 20 เซนติเมตร ดังนั้นการผ่าตัดแบบ Microscopic Spine Surgery จะช่วยลดขนาดของแผลเป็นที่เกิดจากการผ่าตัดแบบเปิดแผลได้
  • ระยะเวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลไม่นาน เพียง 1 - 2 วัน ซึ่งในบางเคส แพทย์อาจอนุญาตให้กลับได้ทันทีหลังผ่าตัด ซึ่งนับว่าเร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิดที่อาจต้องเสียเวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลนานเป็นสัปดาห์
  • ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน ลดโอกาสการติดเชื้อจากแผลผ่าตัด และโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ทำให้มีความปลอดภัยสูงกว่าการผ่าตัดแบบเปิด
  • ช่วยลดโอกาสเกิดพังผืดที่แผลจากการผ่าตัดแบบเปิด
  • การผ่าตัดผ่านกล้องขยายจะช่วยให้แพทย์มองเห็นตำแหน่งและรายละเอียดภายในได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วยให้แพทย์ทำการผ่าตัดได้ตรงจุด ลดโอกาสการเกิดบาดแผลต่ออวัยวะอื่นๆ

 

ข้อจำกัดของการผ่าตัดส่องกล้อง

  • เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีพิเศษและทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญสูง ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดต่อครั้งค่อนข้างสูง
  • ไม่เหมาะสำหรับผ่าตัดในผู้ป่วยบางราย ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีโรคปอดและหัวใจขั้นรุนแรง รวมถึงผู้ที่เคยผ่าตัดหรือมีพังผืดจากการผ่าตัดเป็นจำนวนมาก

 

วิธีเตรียมตัว ก่อน-หลังการผ่าตัด

 

ก่อนผ่าตัด

  • รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน และนอนหลับให้เพียงพอในวันก่อนหน้า เพื่อให้ร่างกายเตรียมพร้อมก่อนผ่าตัด และช่วยให้ฟื้นตัวเร็ว
  • งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด ป้องกันการสำลักอาหารเข้าหลอดลมและปอด
  • อาบน้ำให้สะอาด งดการใช้ครีมและเครื่องสำอางทุกชนิด ล้างสีเคลือบเล็บและเท้าออก เพื่อให้แพทย์สามารถสังเกตสีเล็บในช่วงที่ขาดออกซิเจนในระหว่างการผ่าตัดได้
  • ถอดเครื่องประดับทุกชนิด เช่น แหวน กิ๊บติดผม สร้อยคอ/ข้อมือ ต่างหู แว่นตา คอนแทคเลนส์ รวมถึงฟันปลอมชนิดที่ถอดได้ เพื่อป้องกันฟันปลอดหลุดเข้าไปอุดหลอดลมขณะผ่าตัด
  • ขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเข้าผ่าตัด
  • หากมีเส้นขนในบริเวณที่จะทำการผ่าตัด ควรงดโกนขนด้วยตัวเอง เนื่องจากการโกนแต่ละครั้งจะทิ้งรอยขูดขนาดเล็กเอาไว้บนผิว ซึ่งอาจกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค นำไปสู่การติดเชื้อได้
  • งดสูบบุหรี่ก่อนวันผ่าตัดอย่างน้อย 30 วัน เพื่อลดปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในกระแสเลือด

 

หลังการผ่าตัด

  • ลดจำนวนการขยับตัวของผู้ป่วยลง เพราะผู้ป่วยที่ได้รับยาชาผ่านการฉีดที่บริเวณช่องสันหลัง หรือบริเวณเส้นประสาทอาจยังไม่หมดฤทธิ์ของยาชา ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • กรณีที่มีอาการปวดที่แผล สามารถแจ้งขอรับยาระงับอาการปวดได้ โดยอาการจะดีขึ้นภายใน 2 - 3 วันหลังทานยา
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 12 - 24 ชั่วโมง
  • เลี่ยงการยกของหนัก
  • งดการออกกำลังกายอย่างหนัก 2 - 4 สัปดาห์ ป้องกันไม่ให้เหงื่อไหลสะสมบริเวณแผลจนเกิดการติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการขับรถระยะทางไกลอย่างน้อย 7 - 10 วัน
  • หลีกเลี่ยงการทานหรือทำกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดอาการท้องผูก หรือต้องเบ่งถ่ายแรงๆ

 

ทั้งนี้ การผ่าตัดแบบส่องกล้องแผลเล็ก หรือ Minimally Invasive Surgery จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง ร่วมกับทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญพิเศษในการผ่าตัด ซึ่งทางโรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ เรามีทีมแพทย์ที่ผ่านการอบรมการผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้องแผลเล็กจากสถาบันการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศพร้อมให้การดูแลสุขภาพของผู้ป่วยเป็นอย่างดี ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี และสุขภาพโดยรวมกลับมาแข็งแรงได้ดังเดิม






สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02 3632 000 ต่อ 2130-2131

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่
Line official account : ศูนย์กระดูก PLS
Line ID : @ortho_paolo_pls

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn