เหนื่อยง่าย หอบตอนออกกำลังกาย อย่าชะล่าใจ! ตรวจ EST ให้รู้!
โรงพยาบาลเปาโล
10-พ.ย.-2565
เคยเป็นไหม? รู้สึกเหนื่อยง่าย เดินหรือวิ่งนิดหน่อยก็เหนื่อยแล้ว ยิ่งตอนออกกำลังกายมักรู้สึกเหนื่อยหอบจนหายใจไม่ทัน ซึ่งหลายคนที่มีอาการแบบนี้มักเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติที่อัตราการเต้นของหัวใจจะต้องเร็วขึ้นเมื่อออกกำลังกายจึงไม่สงสัยอะไร แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาการเหนื่อยหอบตอนออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ต้องระวัง! เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของ “โรคหัวใจ” ที่กำลังลุกลาม

ดังนั้น หากสงสัยหรือมีอาการเกิดขึ้นบ่อยๆ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองสุขภาพหัวใจด้วยการ “เดินสายพานหัวใจ” ซึ่งเป็นเทคนิคการค้นหาความผิดปกติของหัวใจขณะออกกำลังกาย ที่เรียกว่า EST (Exercise Stress Test) โดยผลตรวจที่ได้มีความแม่นยำสูง! ทั้งยังให้คำตอบได้ว่าการหายใจหอบเหนื่อยที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากความผิดปกติของหัวใจหรือเปล่า

การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกายคืออะไร?

การตรวจสมรรถภาพของหัวใจขณะออกกำลังกาย โดยปกติจะใช้สำหรับการวินิจฉัยภาวะหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยผู้เข้ารับการตรวจจะออกกำลังกายด้วยการเดินบนสายพานหรือปั่นจักรยาน เพื่อวัดค่าการตอบสนองของหัวใจ เพราะขณะออกกำลังกายหัวใจก็จะเต้นเร็วขึ้น และจำเป็นต้องได้รับเลือดมาเลี้ยงมากขึ้นด้วย หากผู้เข้ารับการตรวจมีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ เลือดจะไม่สามารถเดินทางมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก และหากมีการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติก็จะมีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจแสดงออกมาเป็นกราฟให้เห็น ซึ่งตลอดการทดสอบ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจจะควบคุมดูแลเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย จึงไว้วางใจได้ว่าทุกขั้นตอนมีความปลอดภัยสูงมาก

EST เดินสายพานหัวใจ กับ ปั่นจักรยาน แบบไหนเหมาะกับใคร?

การออกกำลังกายเพื่อให้หัวใจเต้นแรงและทำงานหนักขึ้น หรือ EST นี้ โดยทั่วไปจะมีอุปกรณ์ให้เลือกใช้ 2 อย่าง คือ
  • แบบเดินสายพานไฟฟ้า (Treadmill) ซึ่งข้อดีคือ สามารถปรับตั้งโปรแกรมการทดสอบได้หลากหลาย ควบคุมทั้งความเร็วและความชันของลู่วิ่งได้สะดวกและตลอดเวลาการทดสอบได้ง่าย
  • แบบปั่นจักรยาน (Bicycle ergometer) เหมาะกับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องการเดินหรือการทรงตัว

การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกายเหมาะกับใครบ้าง?

  1. ผู้ที่มีปัจจัยเสียงโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น ผู้สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ขาดการออกกำลังกาย ตรวจพบไขมันในเลือดสูง เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเมื่อออกแรงหรือออกกำลังกาย
  2. ผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสียง แต่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
  3. ผู้ที่กลับมาออกกำลังกายหลังจากหยุดไปนาน
  4. ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่มีความกังวล หรือเคยเจ็บแน่นหน้าอก หอบเหนื่อยผิดปกติขณะออกกำลังกาย

ขั้นตอนการตรวจสมรรถภาพหัวใจ EST

ในขั้นตอนการตรวจ จะมีการต่อขั้วและสายนำไฟฟ้าบริเวณหน้าอกของผู้เข้ารับการทดสอบ 10 สาย เข้ากับเครื่องตรวจระบบคอมพิวเตอร์ ในขณะที่เดินหรือวิ่งอยู่บนสายพานลู่วิ่งนั้น เครื่องจะบันทึกและแสดงลักษณะของคลื่นนำไฟฟ้าหัวใจ พร้อมทั้งความดันโลหิตไว้ แพทย์ผู้ควบคุมการทดสอบจะมีการเพิ่มความเร็วและความชันของเครื่องเป็นระยะๆ ตามโปรแกรม โดยจะเลือกให้เหมาะกับผู้เข้าทดสอบแต่ละราย

ก่อนตรวจ EST ต้องเตรียมตัวอย่างไร?

  • งดอาหารและเครื่องดื่มก่อนการทดสอบ 2 ชั่วโมง
  • ควรงดอาหารมันๆ มาล่วงหน้า
  • งดดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • หากมียาที่ทานอยู่เป็นประจำต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน
  • สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย และรองเท้าที่เหมาะกับการออกกำลังกาย

เพราะ “หัวใจ” เป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างยิ่ง หากมีความกังวลหรือรู้สึกว่ามีความผิดปกติดังที่กล่าวมา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง และไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือแม้แต่เป็นนักกีฬาที่ดูแข็งแรง ขอโปรดอย่าชะล่าใจ!... เพราะอาจมีความผิดปกติของหัวใจที่ยังไม่แสดงอาการออกมา แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่ง อาจจะสายเกินไปก็เป็นได้