คุณแม่ตั้งครรภ์ ทำไมชอบเป็นตะคริว
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
05-พ.ค.-2564
         การเกิดตะคริว ขณะตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักเป็นช่วงในอายุครรภ์สัปดาห์ที่ 21 - 24 ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก
“ตะคริว” เกิดจากการขาดแคลเซียม และมีฟอสฟอรัสมากเกินไปในกระแสเลือด เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ขาทั้งสองข้างของคุณแม่ต้องแบกรับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระบบหมุนเวียนโลหิตตึงแน่นเกินไปบริเวณขา ทำให้เกิดตะคริวได้
        ไม่เฉพาะแต่การยืน หรือเดินเท่านั้นที่อาจเกิดตะคริว แม้กระทั่งในช่วงเวลานั่งก็อาจเกิดตะคริวได้เช่นกัน ยิ่งคุณแม่วัยทำงานที่แต่ละวันยังคงต้องทำงานอยู่ที่โต๊ะเป็นเวลานานๆ จะทำให้เลือดเดินไม่สะดวกเกิดของเสียคั่งบริเวณน่อง ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวจนเกิดตะคริวขึ้นได้
        สาเหตุอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้เกิดตะคริวได้ คือ การที่เลือดไหลเวียนไปส่วนล่างไม่ดีเพียงพอ ดังนั้น การใส่ถุงน่องที่กระชับขาในระหว่างวันที่ทำงาน จะช่วยลดการเกิดตะคริวได้มากขึ้น

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

                   ค่อยๆ ยืดกล้ามเนื้อออกให้อยู่ในความยาวที่ปกติของกล้ามเนื้อนั้น ๆ และให้ยืดกล้ามเนื้ออยู่จนกระทั่งหายปวด อาจใช้เวลาประมาณ 1 - 2 นาที แล้วลองปล่อยมือดูว่ากล้ามเนื้อนั้นๆ ยังเกร็งอยู่หรือไม่ ถ้ายังมีอยู่ให้ทำซ้ำจนกระทั่งปล่อยมือแล้วไม่มีอาการเกร็งตัว
การดื่มนม และการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ผักใบเขียว เมล็ดฟักทอง รวมถึงปลาเล็กปลาน้อย หรืออาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม จะช่วยลดการเกิดตะคริวได้ ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นตะคริวขณะเข้านอนตอนกลางคืนบ่อยๆ ก่อนนอนควรดื่มนมให้มากขึ้น และยกขาสูง ใช้หมอนรองขาให้สูงจากเตียงประมาณ 10 ซม. (4 นิ้ว)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 0-2271-7000 ต่อ สุขภาพสตรี