ความดันโลหิตของคุณแม่ตั้งครรภ์
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
05-พ.ค.-2564
ในร่างกายของเราจะมีความดันโลหิตที่คอยผลักดันเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกาย โดยคนปกติจะมีระดับความดันโลหิตที่ 120/80 -139/89 มิลลิเมตปรอท แต่ถ้าใครมีระดับความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ส่วนความดันต่ำจะอยู่ที่ 100/60 มิลลิเมตรปรอทใน “ผู้หญิงตั้งครรภ์” มีการเปลี่ยนแปลงของสรีระเพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงเด็กทารกในครรภ์ได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้น ความดันโลหิตในผู้หญิงตั้งครรภ์ช่วงตั้งครรภ์ใหม่ๆ จะมีความดันโลหิตที่ต่ำลง จนถึงช่วงกลางของการตั้งครรภ์ และหลังจากนั้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
  • ลักษณะของความดันต่ำ จะมีอาการหน้ามืด วิงเวียน ในบางรายอาจมีอาการอ่อนเพลียมาก
  • ลักษณะของความดันสูง จะมีอาการปวดศีรษะ ตาพร่ามัว บวมตามร่างกาย
คุณแม่ตั้งครรภ์ มีโอกาสที่จะเกิดความดันต่ำ และความดันสูงในส่วนของความดันต่ำนั้นมักจะเจอในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ บางครั้งจะพบในคุณแม่ที่มีภาวะแพ้ท้องมากๆ หรือรับประทานไม่ได้ แต่ถ้าอ่อนเพลียมาก เวียนศีรษะ จะเป็นลม แนะนำว่าต้องพัก ถ้าไม่ไหวจริงๆ ต้องมาให้น้ำเกลือที่โรงพยาบาล แต่ความดันสูงระหว่างการตั้งครรภ์ หรือเป็นความดันสูงก่อนการตั้งครรภ์ เมื่อตั้งครรภ์แล้วอาจจะทำให้เกิดครรภ์เป็นพิษ นอกจากนี้ ยังมีคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เดิมมีความดันปกติ แต่เมื่อตั้งครรภ์กลับเป็นความดันสูง ซึ่งพัฒนาไปสู่ภาวะครรภ์เป็นพิษได้เช่นกัน
ความดันสูงในระยะตั้งครรภ์เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นบ่อยในแต่ละระยะครรภ์ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต โดยในแต่ละปีพบกว่า 50,000 ราย และเกือบทุกรายมีโอกาสเสียชีวิต ปัจจัยที่ทำให้มารดามีภาวะความดันสูงระหว่างตั้งครรภ์ เช่น มารดาที่อ้วน มารดาที่อายุมาก หรือมีโรคประจำตัว อาทิ โรคไต เบาหวาน เมื่อเกิดความดันสูงแล้ว จะมีผลกระทบต่อความเสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษ เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งต่อตัวมารดาและลูกน้อยในครรภ์ ในประเทศไทยเราพบคุณแม่ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงกับการตั้งครรภ์ร้อยละ
1 - 3 ตามสถิติจำนวนคลอดประมาณ 700,000 รายต่อปี แต่ละปีจะมีคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย
อย่างไรก็ตาม คุณแม่ที่รู้ว่าตนเองมีภาวะความดันโลหิตสูง ควรจะต้องมีการวางแผนก่อนการตั้งครรภ์โดย
  • ควบคุมความดันโลหิตให้ดี
  • ปรึกษาแพทย์ว่าเรามีแผนตั้งครรภ์ เพราะยาบางชนิดที่ใช้กับโรคความดันอาจจะส่งผลต่อทารกทำให้เกิดความผิดปกติได้ ควรจะมีการเปลี่ยนยาที่เหมาะสมก่อนตั้งครรภ์ แต่ถ้ามีภาวะความดันสูงแต่ตั้งครรภ์ไปแล้ว สิ่งที่ควรปฏิบัติ คือ การปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสม
  • อาหารที่มีโพแทสเซียม และแมกนีเซียม สามารถช่วยป้องกันโรคความดันได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีมากในผักและผลไม้สด อย่างกล้วย มันฝรั่ง และผักใบเขียวต่างๆ
  • ในส่วนของการออกกำลังกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความดันโลหิตสูง การออกกำลังกาย แนะนำเรื่องของการเล่นโยคะ การว่ายน้ำ การทำสมาธิ และพักผ่อนให้เพียงพอ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์สุขภาพสตรี  
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน 0-2271-7000 ต่อ สุขภาพสตรี