ทำความเข้าใจ...ข้อแตกต่างระหว่าง X-ray กับ MRI
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
23-มี.ค.-2566

ทำความเข้าใจ...ข้อแตกต่างระหว่าง X-ray กับ MRI

หลายครั้งเมื่อเจ็บป่วย แล้วแพทย์ขอให้ผู้ป่วยเข้ารับการเอกซเรย์ หรือตรวจด้วยการทำ MRI ผู้เข้ารับการตรวจก็มักมีข้อสงสัยว่า ทำไมถึงต้องตรวจด้วยวิธีนั้นๆ วันนี้ โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ จะมาอธิบายถึงความแตกต่างของการตรวจร่างกายใน 2 วิธีนี้ว่า มีความต่างกันอย่างไรบ้าง?

 

หลักการทำงาน

X-ray : เป็นการถ่ายภาพด้วยการใช้รังสีเอกซ์ผ่านร่างกายในส่วนที่ต้องการตรวจ โดยรังสีจะไปตกบนแผ่นฟิล์มเอกซเรย์ (หลักการคล้ายกับกล้องถ่ายรูปแบบฟิล์ม) โดยภาพที่ได้จะเป็นภาพรวมของทั้งอวัยวะที่ทำการตรวจ และให้ภาพในรูปแบบ 2 มิติเท่านั้น เมื่อได้ภาพเอกซเรย์ แพทย์จะนำมาอ่านผลเพื่อวินิจฉัยถึงความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ การตรวจ X-ray ในแต่ละครั้งอาจทำให้เกิดรังสีตกค้างในร่างกายอยู่บ้าง แต่จะก่อให้เกิดอันตรายกับเซลล์หรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับปริมาณของรังสีที่เซลล์ได้รับ รวมถึงอายุของเซลล์ด้วย

MRI : เครื่อง MRI จะมีลักษณะคล้ายอุโมงค์ขนาดใหญ่ โดยมีเตียงที่เลื่อนเข้าออกในอุโมงค์ได้ เครื่องจะทำงานด้วยการถ่ายภาพโดยใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นความถี่วิทยุสแกนให้เห็นอวัยวะภายใน โดยสัญญาณที่ได้จะถูกประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ที่มีรายละเอียดสูง จึงให้ภาพที่คมชัดในรูปแบบ 3 มิติเสมือนจริง ซึ่งการตรวจด้วยวิธี MRI จะไม่มีรังสีเอกซ์ที่เป็นอันตราย ผู้ที่ตั้งครรภ์จึงสามารถตรวจได้ แต่ควรมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป

 


การตรวจวินิจฉัย

X-ray  : การตรวจแบบ X-ray สามารถให้รายละเอียดที่ชัดเจน โดยเฉพาะกระดูกตามส่วนต่างๆ เช่น ฟัน แขน ขา หรืออวัยวะที่ห้อมล้อมด้วยกระดูก รวมถึงภาพเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่มีขนาดใหญ่และหนาอย่างหัวใจ ปอด หรือช่องท้อง

MRI : การตรวจด้วยการทำ MRI เป็นวิธีที่สามารถให้รายละเอียดของภาพและแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อได้อย่างแม่นยำ สามารถแยกเนื้อดีและเนื้อร้ายได้อย่างชัดเจน โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องความหนาของเนื้อเยื่อ ทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ในความผิดปกติที่ขนาดเล็ก ซึ่งสามารถตรวจได้ทั้ง สมอง เส้นเอ็น เส้นประสาท หลอดเลือด เนื้อเยื่ออ่อน กล้ามเนื้อ ไขสันหลัง หมอนรองกระดูก และกระดูก

ในระหว่างขั้นตอนการตรวจ MRI โดยปกติจะไม่จำเป็นต้องฉีดสารทึบรังสี แต่จะใช้ในบางกรณีที่ต้องการวินิจฉัยโรคพิเศษบางชนิด เช่น โรคติดเชื้อ  หรือเนื้องอกกระดูกสันหลัง ซึ่งสารทึบแสงนี้อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยในส่วนผสมของสารจะมีไอโอดีนที่คล้ายกับสารที่อยู่ในอาหารทะเลบางชนิด ดังนั้นถ้าใครเคยมีประวัติการแพ้สารทึบแสงมาก่อน หรือเคยแพ้อาหารทะเล ควรบอกแพทย์ก่อนการตรวจทุกครั้ง

 


ข้อจำกัด

X-ray : เนื่องจากการตรวจแบบ X-ray ในแต่ละครั้งจะมีการปล่อยรังสีออกมา ทำให้เป็นอันตรายต่อสตรีมีครรภ์ได้ คืออาจก่อให้เกิดความผิดปกติกับครรภ์ เช่น เกิดการแท้งหรือความพิการของทารก เป็นต้น ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยง หรือปรึกษาแพทย์ที่ทำการตรวจ X-ray และแพทย์เจ้าของครรภ์ก่อนทุกครั้ง

MRI : แม้การตรวจ MRI จะไม่มีปริมาณรังสี แต่ก็มีสนามแม่เหล็กแรงสูงตลอดเวลาขณะตรวจ จึงมีข้อห้ามหรือข้อควรระวังอยู่เช่นกัน โดยไม่เหมาะกับผู้ที่เคยผ่าตัดติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์หรือมีโลหะบางชนิดในร่างกาย เพราะอาจทำให้โลหะที่ฝังอยู่ในร่างกายมีการขยับและส่งผลที่เป็นอันตรายได้ จึงควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และผู้ดูแลก่อนการทำ MRI ทุกครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม การตรวจทั้ง 2 แบบ แม้จะมีจุดประสงค์เดียวกัน คือ ตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย แต่ก็มีความแตกต่างอยู่ไม่น้อย ดังนั้นการจะเลือกตรวจด้วยวิธีใดก็จะขึ้นอยู่กับจุดประสงค์และดุลยพินิจของแพทย์ในการส่งตรวจ ว่าอาการของผู้ป่วยและความผิดปกติที่ต้องการค้นหานั้นเหมาะกับการตรวจในรูปแบบใดมากกว่า หรือในบางกรณีอาจจำเป็นต้องตรวจทั้งสองวิธีก็เป็นได้

บทความโดย
นายแพทย์ กษิดิศ ศรีจงใจ 
แพทย์ประจำสาขากระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ




สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02 3632 000 ต่อ 2130-2131

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่
Line official account : ศูนย์กระดูก PLS
Line ID : @ortho_paolo_pls

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn