โรคกรดไหลย้อน ปล่อยเรื้อรังอันตราย ป้องกันได้
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
15-มี.ค.-2564
กรดไหลย้อน ถือเป็นโรคหนึ่งที่คนวัยทำงานเริ่มได้ยินบ่อยมากขึ้นในยุคนี้ เมื่อเรารับประทานอาหารเข้าทางปาก อาหารจะถูกเคี้ยว และกลืนเข้าหลอดอาหาร อาหารก็จะถูกบีบ ไล่ไปยังกระเพาะอาหาร ระหว่างรอยต่อของกระเพาะอาหารและหลอดอาหารจะมีหูรูด ทำหน้าที่ปิดมิให้อาหาร หรือกรดไหลย้อนกลับไปยังหลอดอาหาร เมื่ออาหารอยู่ในกระเพาะจะมีกรดออกมาจำนวนมาก เมื่ออาหารได้รับการย่อยแล้วก็จะถูกบีบไปยังลำไส้เล็ก แต่หากมีกรดไหลย้อนเข้าไปยังหลอดอาหาร ก็จะทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร ส่งผลให้มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หรือแสบหน้าอก

ปัจจัยเสี่ยง โรคกรดไหลย้อน
               กรดไหลย้อนเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากความผิดปกติของหลายๆ ส่วนในระบบทางเดินอาหาร  อาทิ ทางกายภาพ เช่น มีหูรูดกระเพาะอาหารปิดไม่สนิท มีการบีบตัวของหลอดอาหารที่ผิดปกติไป มีการเลื่อนของหูรูดกระเพาะไปจากส่วนที่ควรจะเป็น แต่ปัจจัยที่เป็นตัวการส่งเสริมให้เกิดโรคนี้อันดับต้นๆ คือ พฤติกรรมของเรา เช่น รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา ชอบอาหารรสจัด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เร่งรีบในการทานอาหาร

                   หากปล่อยไว้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลอดอาหาร เนื่องจากหลอดอาหารไม่สามารถทนทานต่อกรดได้มากนัก เมื่อมีการอักเสบบ่อยๆ อาจจะทำให้เซลล์ต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามภาวะนี้เกิดได้น้อย และไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงชีวิต แต่เป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วย ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงส่งผลต่อคุณภาพชีวิต สิ่งที่ต้องเผชิญจริงๆ จากโรคกรดไหลย้อนคือ เกิดความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น มีอาการจุก แน่น อึดอัด แน่นหน้าอกมาก จนเกิดความกังวล นอนไม่หลับ เพราะอาการกรดไหลย้อนจะมีเยอะขึ้นเมื่อนอน ส่งผลให้เกิดการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ โรคกรดไหลย้อนจะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อร่วมด้วย คล้ายๆ กับอาการของโรคกระเพาะอาหาร จึงทำให้ใครหลายคนเข้าใจผิดว่าตนเองอาจจะเป็นโรคกระเพาะอาหาร และไปซื้อยาเคลือบแผลในกระเพาะอาหารมารับประทานเอง ซึ่งเป็นการรักษาที่ไม่ตรงจุด

กรดไหลย้อน รักษาได้อย่างไร
                เมื่อสงสัยว่าจะเป็นโรคกรดไหลย้อน อันดับแรกแพทย์อาจจะต้องซักถาม เพราะโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังไม่ใช่แค่เรอวันเดียว คลื่นไส้วันเดียวแล้วจะเป็นโรคกรดไหลย้อน หากวินิจฉัยแล้วว่าอาการแสดงเสี่ยงต่อโรคกรดไหลย้อน แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาปรับการหลั่งน้ำย่อยก่อน 1-2 สัปดาห์ ทั้งนี้ การรับประทานยาเป็นทั้งการรักษาและวินิจฉัย เพราะปกติกรดไหลย้อนมักจะดีขึ้นด้วยการรับประทานยา หากไม่ดีขึ้น อาจจะทำการรักษาขั้นตอนต่อไป เช่น การใส่สายขนาดเล็กคล้ายเส้นลวดทางจมูกไปที่หลอดอาหาร เพื่อวัดกรด-ด่าง ที่ไหลย้อนขึ้นมายังบริเวณหลอดอาหาร และบันทึกเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เครื่องจะสามารถระบุได้ว่า มีภาวะกรดไหลย้อน หรือไม่ และทำให้ทราบว่าเกิดกรดไหลย้อนในหลอดอาหารช่วงไหน

กลุ่มเสี่ยง ของโรคกรดไหลย้อน

  • ผู้สูงอายุ จะมีโอกาสเกิดกรดไหลย้อนสูงขึ้น เนื่องจาก หูรูดกระเพาะอาหารจะหย่อนมากกว่าปกติ และเยื่อบุต่างๆ เสื่อมสภาพลง น้ำลายลดลง หรือต้องรับประทานยาต่างๆ หลายชนิดที่มีผลข้างเคียง ทำให้น้ำลายลดลงหรือกินยาบางอย่างที่ทำให้หูรูดกระเพาะปิดไม่สนิท ก็มีอาการของโรคกรดไหลย้อนตามมา
  • คนอ้วน คนที่อายุน้อยแต่มีน้ำหนักตัวที่มากขึ้น และการรับประทานชา กาแฟ ของมัน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นการหลั่งกรด ทั้งนี้ เมื่อน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น หูรูดกระเพาะก็อาจปิดไม่สนิท

ลดปัจจจัยเสี่ยงโรคกรดไหลย้อน ได้อย่างไร

  • ห้ามรับประทานอาหารแล้วนอนทันที
  • ออกกำลัง ลดน้ำหนัก
  • นอนหัวสูง
  • กิน นอน ให้เป็นเวลา ห้ามนอนดึก
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
โทร. 0-2271-7000 ต่อ โรคระบบทางเดินอาหารและตับ